สปสช. สรพ. สธ.ผนึกกำลังช่วยผู้ป่วย 1,500 ราย ให้รอดชีวิตติดเชื้อในกระแสเลือด หลังพบเป็นสาเหตุหลักเสียชีวิตใน รพ.
วันนี้ (13 ก.ย.) ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กทม. นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โครงการ 1,500 ชีวิต พิชิตติดเชื้อในกระแสเลือด กล่าวว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง (Severe sepsis and septic shock) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย และเป็นปัญหาสุขภาพในแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service plan ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย จากข้อมูลของ สปสช.พบว่าภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยใน รพ.และการรักษายังไม่มีแนวทางการประสานดูแล และส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง รพ.ชุมชนและรพ.ทั่วไปหรือรพ.ศูนย์ภายในจังหวัดอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ได้รับการดูแลล่าช้า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น
ดังนั้น บุคลากรการแพทย์ ร่วมกับ สปสช.และ สรพ.จึงพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างเป็นระบบ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จัดทำแนวปฏิบัติดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตเพื่อให้ได้รับการดูแลมีมาตรฐาน ตั้งแต่ รพ.ขนาดเล็กจนถึง รพ.ศูนย์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ตั้งแต่การวินิจฉัย การดูแลเบื้องต้น และการติดตามส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนจัดทำช่องทางด่วน (Fast track) ส่งต่อผู้ป่วยมายังห้องไอซียูให้เร็วที่สุด ให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดได้รับการรักษาทันที
ในการดำเนินการนั้น เบื้องต้นได้นำร่องใน จ.พิษณุโลก พบว่าสามารถลดอัตราเสียชีวิตได้จากร้อยละ 73 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 37 ในปี 2554 ก่อนจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในเขต 2 ตั้งแต่ปี 2555 ก็พบว่าช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้เช่นกัน จึงได้จัดโครงการ 1,500 ชีวิต พิชิตติดเชื้อในกระแสเลือด เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรงที่มารับบริการใน รพ.ที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต มีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรงให้รอดชีวิตได้มากกว่า 1,500 รายในระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556
ทั้งนี้ มีเครือข่ายที่ร่วมในโครงการครั้งนี้ กว่า 20 จังหวัด ได้แก่ เครือข่ายหน่วยบริการเขตบริการสุขภาพที่ 2 (จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก), เครือข่ายหน่วยบริการจังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง น่าน อยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา อุดรธานี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี, รพ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รพ.เลิดสิน, รพ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการ ได้แก่ สรพ., สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย, สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย, สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และสำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข