ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่ยอมรับ “ไข้เลือดออก” แพร่ระบาดรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมพุ่งเกิน 5,200 ราย และเสียชีวิต 5 รายแล้ว แถมยังมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มเฉลี่ยวันละ 100 ราย ต้องระดมแพทย์-พยาบาลจัดตั้งเครือข่ายรักษาตั้งแต่ระดับ รพ.ชุมชน-จังหวัด พร้อมสั่งการเข้มงวดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อเนื่องทุกซอกมุมของบ้าน และชุมชน
ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต โดยยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56-7 ก.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,233 ราย เสียชีวิตไป 5 ราย ขณะที่ปัจจุบันยังคงมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 100 ราย
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนั้น เวลานี้ได้มีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายแพทย์และพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในการให้การรักษาพยาบาลและส่งต่อผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของอาการ โดยที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้มีการจัดเตรียมเตียงไว้เป็นพิเศษเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคมนี้เป็นช่วงที่จะต้องจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดในรอบปี
มาตรการที่มีการดำเนินการอย่างเข้มข้นและเร่งด่วนในช่วงนี้เพื่อป้องกันให้มีผู้ป่วยน้อยที่สุดคือ การรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด การฉีดพ่นสารเคมีฆ่ายุงทั้งในบ้าน และบริเวณบ้าน
โดยเฉพาะมาตรการที่สำคัญที่สุดจะเป็นในส่วนของการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะของโรค ซึ่งมีการรณรงค์ให้กำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตามบ้านเรือนและชุมชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากประชาชนให้ความร่วมมืออย่างจริงจังเชื่อว่าน่าจะประสบผลในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้มาก
สำหรับอำเภอที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ดร.สุรสิงห์ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบเป็นอัตราจากจำนวนประชากรต่อพื้นที่แล้ว พบว่าอำเภอแม่อายมีอัตราผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาเป็นอำเภอหางดง อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง ตามลำดับ ซึ่งได้เน้นย้ำกำชับในทุกพื้นที่ให้ดำเนินการมาตรการควบคุมเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้