xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ใช้ “ใบกระท่อม” ต้านยาเสพติดได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมแพทย์แผนไทยฯ ชี้ใบกระท่อมมีสรรพคุณทางยา เน้นระงับอาการปวด ท้องร่วง ท้องเฟ้อ ช่วยให้นอนหลับและระงับประสาท อึ้้ง! สามารถใช้ต้านยาเสพติดได้ โดยใช้ใบกระท่อม 2-3 ใบ นาน 2-3 สัปดาห์ ช่วยทำให้เลิกฝิ่นได้ แต่อาจมีผลข้างเคียงเฉียบพลัน และใช้เป็นเวลานานจะเกิดอาการติดยา แต่ไม่มีรายงานการก่ออาชญากรรมจากการเสพติดใบกระท่อม ด้าน “หมอประดิษฐ” ชี้ปล่อยฟรีใบกระท่อมต้องหารือร่วมหลายฝ่ายก่อน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงยุติธรรมเตรียมศึกษาวิจัยใบกระท่อม เพื่อลดระดับจากการเป็นพืชยาเสพติด ว่า เรื่องนี้คงต้องขอหารือกับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีปลัด สธ.เป็นประธานก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า จะยกเลิกใบกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในลักษณะใด ซึ่งอาจจะยกเลิกโดยอนุญาตให้ปลูกได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น หรือจะยกเลิกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษและเปิดให้ใช้อย่างเสรี ตรงนี้ต้องมาพิจารณาตัวกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือต้องแก้กฎหมายอย่างไรบ้าง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีผลการศึกษาใดว่า หากยกเลิกใบกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดและนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์นั้น จะคุ้มค่าต่อการใช้ยาแผนปัจจุบันหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องหารือก่อน คาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการในเร็วๆ นี้

พญ.อัญชลี ไชยสัจ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับต้นเข็ม มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย มลายู จนถึงเกาะนิวกินี ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อย่างในไทยภาคเหนือ เรียกว่า อีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้เรียก ท่อม หรือท่ม เป็นต้น ทั้งนี้ ใบกระท่อมมีสรรพคุณทางทางการรักษาของแพทย์แผนไทย โดยใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยา เรียกว่า ปะสะกระท่อม ใช้รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้นอนหลับและระงับประสาท ซึ่งตรงกับทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะพบว่ามีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน แต่อ่อนกว่า 10 เท่า

พญ.อัญชลี กล่าวอีกว่า สารสำคัญที่พบในใบกระท่อมคือ สารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซึ่งชนิดและปริมาณของสารอัลคาลอยด์จะต่างกันไปตามสถานที่และระยะเวลาการเก็บเกี่ยว ตัวที่สำคัญคือ Mitragynine ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อยได้ดี กดความรู้สึกเมื่อยล้า ทำให้ทำงานได้นานขึ้น มีฤทธิ์หลอนประสาท ทำให้เคลิบเคลิ้ม เมื่อติดยาจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ผิวหนังดำเกรียม บางรายมีสภาพจิตสับสน รวมไปถึงการลดระดับการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ และกดระบบประสาทส่วนกลาง

ที่น่าสนใจคือสาร Mitragynine สามารถใช้ต้านยาเสพติดได้ด้วย โดยพบว่าสาร Mitragynine เพียงปริมาณเล็กน้อย ประมาณ 2-3 ใบต่อวัน ในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์สามารถทำให้เลิกฝิ่นได้ และคนไทยจำนวนมากใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการบริโภคฝิ่น เช่นเดียวกับที่ชาวตะวันตกสนับสนุนให้ใช้ Naloxone 0.4 mg/ml แก้อาการอยากฝิ่น” ผอ.สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยกล่าว

พญ.อัญชลี กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สาร Mitragynine มีอาการข้างเคียงเฉียบพลันคล้ายกับมอร์ฟีน คือ ทำให้ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระดำและก้อนเล็กคล้ายอุจจาระแพะ เมื่อใช้เป็นเวลานาน จะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด นอนไม่หลับ ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณแก้ม มีสีคล้ำขึ้นคล้ายหน้าผู้ป่วยโรคตับ ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ติดกระท่อม รายงานว่ามีความต้องการทางเพศลดลง และต้องการใช้กระท่อมร่วมกับแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศ ดังนั้น การติดยาจึงเกิดจากการใช้ยาในขนาดสูง ซึ่งการติดกระท่อมเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยการเพิ่มขนาดปริมาณ และความถี่ในการใช้ ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าติดยาคือ เบื่ออาหาร ทำงานได้มากเกินปกติ ตื่นเต้น ตื่นตัว เพราะประสาทถูกกระตุ้น แต่ยังไม่เคยมีรายงานผู้เสพติดกระท่อมก่อปัญหาอาชญากรรม หรืออุบัติเหตุเหมือนผู้เสพติดแอมเฟตามีน แต่เมื่อเกิดการขาดยา จะเกิดอาการไม่มีแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลียไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า จมูกแฉะ น้ำตาไหล บางรายก้าวร้าว แต่เป็นมิตร นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร สำหรับความเป็นพิษของใบกระท่อม ยังไม่มีหลักฐานความเป็นพิษของสาร mitragynine โดยจากการทดลองฉีด mitragynine เข้าหนู ในขนาด 920 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบอาการสั่น และชักเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น