xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งเข้มเฝ้าระวังหวัดนก 7 จังหวัด ห้ามประชาชนกิน-ชำแหละสัตว์ปีกที่ตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.คุมเข้มป้องกันไข้หวัดนกช่วงฤดูฝน หวั่นแพร่ระบาดจากการเคลื่อนสัตว์ปีกข้ามแดนไทย-กัมพูชา ห้ามประชาชนกินสัตว์ที่ตายโดยไม่รู้สาเหตุ เลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกโดยตรง หวั่นติดเชื่อจากสารคัดหลั่ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศชื้น เย็น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ที่น่าห่วงคือโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช5เอ็น1 (H5N1) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก และสามารถติดต่อมาสู่คนได้ และมักมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าวัยอื่น และในช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ก็อาจทำให้คนและสัตว์ปีกอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า  ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา แต่จากการประเมินความเสี่ยงของไทยต่อการระบาดของโรคไข้วัดนก สายพันธุ์ เอช5เอ็น1 พบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่โรคอาจจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากที่ประเทศกัมพูชายังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ชน เนื่องจากเป็นสัตว์ปีกที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด รวมทั้งการเดินทางไปมาของประชาชน นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อผ่านทางนกธรรมชาติได้อีกด้วย ได้ให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เน้นหนักจังหวัดที่เคยพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อไข้หวัดนก รวมทั้งจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี คงมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์ ทั้งในคนและสัตว์ปีก ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน และโรงพยาบาล เพื่อตรวจจับโรคที่รวดเร็วนอกเหนือจากมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่ดำเนินการตามปกติ

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช5เอ็น1 ในปี 2556 ยังพบมีการติดเชื้อต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม - 19 กรกฎาคม 2556 ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกใน 6 ประเทศทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ได้แก่ อียิปต์ บังกลาเทศ จีน กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีผู้ป่วย 24 ราย เสียชีวิต 17 ราย ล่าสุดมีรายงานที่กัมพูชา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 รวมสถานการณ์ในปีนี้พบผู้ป่วยมากที่สุดที่กัมพูชาจำนวน 14 ราย เสียชีวิต 9 ราย
ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ขอให้ยึดหลักปฏิบัติในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้ว หรือกำลังมีอาการป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ผู้ชำแหละจะติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งได้ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกหากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนของกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น