สธ.เตือน 4 กลุ่มเสี่ยง ระวังปอดบวมช่วง ส.ค.-ต.ค. หลังพบป่วยสูงมากทุกปี ล่าสุดยอดผู้ป่วยสะสมตั้งต้นปี 2556 พบมากถึง 99,670 ราย เสียชีวิต 581 ราย แนะฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ออกกำลังกาย และเลี่ยงไปสถานที่แออัด
วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-4 ส.ค. 2556 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศ 99,670 ราย เสียชีวิต 581 ราย พบกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ป่วยมากสุดร้อยละ 30.50 เมื่อแบ่งตามรายภาคพบว่า ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ผู้ป่วยเป็นโรคปอดบวมมากที่สุดช่วงหน้าฝนระหว่าง ส.ค.-ต.ค.และเริ่มมีผู้ป่วยมากอีกครั้งช่วงที่มีอากาศเย็นใน ม.ค.- ต้น มี.ค.
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ในปีนี้การวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-เม.ย.พบผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงกว่าค่ากลางย้อนหลัง 3 ปี นับได้ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคปอดบวมสูงมาก จึงได้ให้ คร.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในช่วง ส.ค.-ต.ค.นี้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ต้องออกกำลังกายและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่ง สธ.จัดบริการให้แก่กลุ่มเสี่ยงฟรีที่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร.กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่เกิดอาการอักเสบบริเวณเนื้อปอดและหลอดลม ส่งผลให้การทำงานของปอดลดลง มีอาการเหนื่อยหอบ และเกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ มีเสมหะมาก หายใจเร็ว หอบ เหนื่อย ในเด็กเล็กมักสังเกตพบอาการหายใจเร็วกว่าปกติ มากกว่า 40 ครั้งต่อนาที โดยอาการเหล่านี้อาจจะพบตามหลังอาการโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบได้ หากปอดบวมรุนแรง อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนเกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า กรณีผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือนโรคปอดบวม ได้แก่ ไข้สูง เด็กมีอาการซึม ไม่กินนม ไม่กินน้ำ หายใจหอบเร็วเสียงดังหวีดหายใจซี่โครงบุ๋ม ต้องรีบไปพบแพทย์ การป้องกันโรคปอดบวมนั้น ต้องดูแลสุขภาพไม่ให้ผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดโดยเฉพาะเด็กเล็ก ไม่ควรพาไปโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โดยไม่จำเป็น