อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 เตือนประชาชนระวังโรคร้ายที่แพร่ระบาดในฤดูฝน แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เจ็บป่วยต้องรีบพบแพทย์ทันที
วันนี้ (28 มิ.ย.) นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน บางแห่งเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และอากาศเปลี่ยนเเปลงบ่อย ทำให้เกิดโรคติดต่อหลายชนิดที่ระบาดได้รวดเร็ว หากประชาชนดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้องจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วย
โดยโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็ว คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อทางผิวหนัง โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีพิษ การจมน้ำ และไฟฟ้าดูด
สำหรับโรคในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ 5 โรค ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียในอากาศ ติดต่อง่าย โดยการไอ หรือจามใส่กัน หากป่วยเป็นปอดบวมอาจเสียชีวิตได้ โดยอาการป่วยจะมีไข้สูง หายใจเร็ว หรือเหนื่อยหอบ
ส่วนโรคติดต่อทางน้ำ และอาหารที่พบบ่อย คือ การกินเห็ดพิษ ดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหนะนำโรค คือ ไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสในยุงลาย โรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) เกิดจากถูกยุงรำคาญในทุ่งนา และโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งมีเชื้อปนเปื้อนในดินโคลนที่ชื้นแฉะ
อาการป่วยของโรคทั้ง 4 ชนิด มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก โดยโรคฉี่หนูจะมีอาการเด่น คือ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง และโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส และโรคที่มักเกิดในภาวะน้ำท่วมมี 2 โรค ได้แก่ โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกเข้าตา โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา
สำหรับวิธีการป้องกัน ประชาชนต้องสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดหลังลุยน้ำย่ำโคลน หรือสวมรองเท้าบูต หลีกเลี่ยงการเดินในพื้นที่ชื้นเเฉะเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู
ป้องกันอย่าให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้ง ทายากันยุงจากพืชธรรมชาติ ทำลายเเหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ เเละสบู่ ดูเเลบ้านเรือนให้สะอาด ไม่รกรุงรัง ป้องกันไม่ให้สัตว์นำโรค เเละสัตว์มีพิษหนีน้ำมาอาศัยในบ้าน เมื่อมีอาการเจ็บป่วยรีบไปพบแพทย์ทันที
หากมีข้อสงสัยอาการป่วย และวิธีปฏิบัติตัว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0-2590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง