xs
xsm
sm
md
lg

เตือนห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ผู้ใหญ่ไม่เกิน 4 เด็กเล็กไม่เกิน 1 ชม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ใหญ่ไม่ควรเล่นน้ำสงกรานต์เกิน 4 ชั่วโมง เด็กเล็กไม่เกิน 1 ชั่วโมง เสี่ยงโรคติดต่อเฉียบพลันระบบหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวมในเด็กเล็ก เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 แนะหลังเล่นควรรีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า สร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย

วันนี้ (9 เม.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เดิมการเล่นน้ำสงกรานต์จะเล่นเฉพาะตอนกลางวัน แต่ปัจจุบันนิยมเล่นทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้อุณหภูมิร่างกายปรับเปลี่ยนตลอดเวลา รวมถึงการเล่นติดต่อกัน 3-4 วัน และหากพักผ่อนน้อย ผู้เล่นน้ำสงกรานต์นานๆ จึงเสี่ยงต่อโรคติดต่อเฉียบพลันระบบหายใจ ได้แก่ โรคหวัด คออักเสบ หูอักเสบ หลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเฉพาะโรคปอดบวม เมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง และเฉพาะในเด็กเล็ก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายในเด็กเป็นอันดับสอง รองจากการตายปริกำเนิด (ตายหลังคลอดไม่เกิน 1 เดือน) และเป็นการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อทั้งหมด จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา ปี พ.ศ. 2554 พบผู้ป่วยปอดบวมในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 72,243 ราย เสียชีวิต 51 ราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงเกิดโรคปอดบวมได้ง่าย ได้แก่ เด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กน้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีภาวะโภชนาการต่ำ หรือเด็กที่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคไม่ครบถ้วน โรคนี้ผู้ป่วยมักมีไข้ ไอ มีเสมหะมาก หายใจหอบเหนื่อย ในเด็กเล็กมักสังเกตพบอาการหายใจเร็วกว่าปกติ มักพบตามหลังอาการโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ หากปล่อยไว้อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนเกิดภาวะขาดออกซิเจนหรือติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า อีกโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยเมื่อเล่นน้ำสงกรานต์นานๆ คือ โรคหวัด และไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ร้อนจัดจากอากาศร้อน เย็นจัดจากการสาดน้ำ โดยเฉพาะน้ำเย็นจัด จากการละลายของน้ำแข็ง อาการเริ่มต้นของโรคหวัดจะมีอาการน้ำมูกใส คัดจมูก จาม อาจมีตัวร้อนเล็กน้อยไม่สบายตัว ไอ และหลอดลมอักเสบตามมา ต่อมาน้ำมูกจะข้นขึ้น อาการไอมากขึ้น หลักจากนั้นอาการต่างๆ จะค่อยๆ ลดลงและหายเองได้ 1-2 สัปดาห์ ถ้ารู้สึกป่วยเป็นหวัด ให้หยุดเล่นน้ำสงกรานต์และพักผ่อนอยู่กับบ้าน หากทนเล่นน้ำสงกรานต์ต่อไปโรคอาจลุกลาม อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมในที่สุด ผู้ปกครองควรสังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน ถ้ามีอาการแทรกซ้อน เช่น หอบ ไข้สูง ควรพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า การเล่นน้ำสงกรานต์ในผู้ใหญ่ ไม่ควรเล่นติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง เด็กเล็กไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง หลังเล่นควรรีบอาบน้ำชำระร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย หากหนาวมากอาจจิบน้ำอุ่น และไม่ควรเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยน้ำแข็ง เพราะจะทำให้ผู้ถูกรดน้ำป่วยง่ายกว่าใช้น้ำอุณหภูมิปกติ และอาจเกิดอุบัติเหตุจากก้อนน้ำแข็งกระแทกหน้า และลำตัวเป็นแผลเป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น