กรมควบคุมโรค สธ. ร่วมกับ สสจ. นักวิชาการและคณาจารย์มหาวิทยาลัยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แนะวิธีปฏิบัติตัวให้รับกับสถานการณ์หมอกควันสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชน
วันนี้ (13 ธ.ค.) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันที่ผ่านมา ได้มีข้อสรุปจากการประชุมว่า กรมควบคุมโรคมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 เชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์หมอกควันและข้อมูลคุณภาพอากาศ จัดทำระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. โรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด 2. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด 3. โรคผิวหนังอักเสบ และ 4. โรคตาอักเสบ ในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และจังหวัดพะเยา
“หมอกควันหรือฝุ่นละอองในบรรยากาศมีผลต่อสุขภาพอีกหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา แสบตา แสบจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล ตาแดง ไอ คอแห้ง เจ็บคอ คออักเสบ หายใจลำบาก อึดอัด แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคหัวใจ จะกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยกรมควบคุมโรคจะดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่จัดเตรียมสนับสนุนหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์เพื่อการควบคุมโรค รวมถึงการดำเนินงานสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนและเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น” นพ.นพพรกล่าว
นพ.นพพรกล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในการรับมือกับปัญหาหมอกควันได้แนะนำการรับมือโดยแบ่งเป็น 5 ระดับตามค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) ในรอบ 1 วัน ซึ่งโดยปกติในอากาศจะมีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร(ug/m3) เป็นค่ามาตรฐาน
ระดับที่ 1 เตรียมพร้อม ไม่เกิน 40 ug/m3 ให้มีการป้องกันการเกิดไฟป่าอย่างเข้มข้น เตรียมข้อมูลสำหรับเตือนประชาชน และเตรียมคัดกรองกลุ่มเสี่ยง
ระดับที่ 2 เตือนภัยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ในช่วง 41-120 ug/m3 เพิ่มเติมการติดตามข้อมูลสถานการณ์ระดับ PM 10 และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ทุกวัน ให้คำแนะนำแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หน่วยบริการสาธารณสุขรวบรวมและรายงานข้อมูลผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค และเตรียมให้คำแนะนำและสนับสนุนหน้ากากอนามัย
ระดับที่ 3 ออกเยี่ยมบ้าน ในช่วง 121-350 ug/m3 เพิ่มเติมให้หน่วยบริการสาธารณสุขออกเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยง เตรียมรองรับผู้ป่วย สำรองยา โรงเรียน สถานเด็กเล็ก ควรงดกิจกรรมภายนอกอาคาร
ระดับที่ 4 พิจารณาหยุดเรียน ในช่วง 351-420 ug/m3 เพิ่มเติมให้หน่วยบริการสาธารณสุขให้ข้อเสนอแนะในการพิจารณาหยุดเรียน โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและความสะดวกในการเดินทางมาโรงเรียน และผลกระทบต่อสุขภาพเป็นหลัก ระดับที่ 5 จัดเตรียมที่พัก มากกว่า 420 ug/m3 ควรพิจารณาปิดโรงเรียน พิจารณายกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ หน่วยงานท้องถิ่นควรเตรียมสถานที่พักที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป หน่วยบริการสาธารณสุขออกเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
นพ.นพพรกล่าวเสริมว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการผิดปกติรุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนังอักเสบ และตาอักเสบ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที ซึ่งสถานพยาบาลในสังกัด สธ.มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากปัญหาหมอกควันเป็นอย่างดี และได้รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 หรือขอความช่วยเหลือฉุกฉิน โทร. สายด่วน 1669