เชียงราย - กรมควบคุมมลพิษคุมเข้ม สั่งห้ามเผาเด็ดขาด ตั้งแต่ 21 มกราคม-10 เมษายน 56 สกัดปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า ชี้แล้งนี้เสี่ยงรุนแรงขึ้น เหตุเอลนินโญซ้ำเติม บอกแล้งปี 55 หมอกควันเชียงรายทำสูญค่ารักษาพยาบาลชาวบ้านเกือบ 400 ล้านบาท
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมกระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวมพลังประชาชน ลดหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ ณ โรงแรมทีคการ์เดน ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีการจัดกิจกรรมมีการรณรงค์การหยุดเผาที่เป็นสาเหตุของหมอกควัน เช่น นิทรรศการ ปล่อยจักรยานรณรงค์ ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปัญหาหมอกควันภาคเหนือในฤดูแล้ง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป
นายวิเชียรกล่าวว่า ปัญหาหมอกควันในฤดูแล้งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะมีการเผาป่าและไร่ในที่โล่ง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยพบปริมาณฝุ่นละอองที่เป็นพิษในอากาศส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจนทำให้มีผู้ล้มป่วยเป็นจำนวนมาก
สำหรับ จ.เชียงรายพบสถานการณ์นี้ชัดเจนในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ที่มีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศสูงเกินมาตรฐานกว่า 3 เท่า ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก และทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนสามารถประเมินค่าเสียหายด้านสุขภาพจากการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในปี 2555 คำนวณได้กว่า 390 ล้านบาท
นายวิเชียรกล่าวอีกว่า ต้นปี 2556 คาดว่าประเทศไทยยังจะได้รับอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนินโญ ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศแห้งแล้งมากกว่าทุกปี ดังนั้นปัญหาหมอกควันมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงมากขึ้นอีก จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อระดมความคิดและเตรียมความพร้อมจากทุกภาคส่วน และรณรงค์ประชาสัมพันธ์กันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงภัยที่เกิดจากการเผา และสร้างมาตรการในชุมชนเพื่อให้มีบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน
ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษกำหนดมาตรการในปี 2556 คือห้ามเผาป่า วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะ และวัชพืช ในช่วง 80 วันอันตราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.-10 เม.ย. 56 จัดระเบียบในการเผาตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรร ป้องกันการเกิดไฟป่าในช่วง 80 วันอันตราย สนับสนุนมาตรฐานหมู่บ้านปลอดการเผา ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ รวมทั้งแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพราะหมอกควันมักพัดข้ามเขตแดน โดยมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อรับมือและแก้ไขสถานการณ์หมอกควัน เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูลและสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย