ตาก- กรมควบคุมมลพิษเดินสายรับฟังความคิดเห็นแผนแก้ปัญหาหมอกควัน-ไฟป่าปี 56 ที่แม่สอด ก่อนเสนอ 9 มาตรการฯ ขอไฟเขียว ครม.
วันนี้ (14 พ.ย.) กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาค 4 นำโดยนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายปัญญารัตน์ รังศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก ได้เดินสายมารับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่ห้องประชุมสักทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่า และการเผาในที่โล่งแจ้ง ซึ่งนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นำตัวแทนภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 500 คน
นายวิเชียรกล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือที่มักเกิดขึ้นในหน้าแล้งระหว่างเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 10 ไมครอน (PM10) ในบรรยากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาได้มีการนำเสนอ (ร่าง) 9 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่า และการเผาป่า เศษวัสดุที่เหลือจากการทำเกษตรกรรม ปี 2556 คือ
1. ห้ามเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรโดยทั่วไป (ยกเว้นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต)
2. จัดระเบียบการเผาในพื้นที่ทำการเกษตรที่ได้รับอนุญาต
3. การป้องกันการเกิดไฟป่า
4. ส่งเสริมหมู่บ้านปลอดการเผา
5. ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคประชาชน
6. การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในปัญหา
7. การแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน
8. ให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดหมอกควันข้ามแดน
9. จัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาฯ
ซึ่ง 9 มาตรการป้องกันที่กล่าวมา ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้ง 9 จังหวัดในภาคเหนือ โดยหลังจากนี้กรมควบคุมมลพิษจะนำข้อมูล ข้อเสนอแนะไปวิเคราะห์และปรับปรุงแก้ไข จัดทำเป็นมาตรการฯ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการนำไปเป็นแนวทางการบริหารจัดการปัญหาหมอกควัน และการเผาในที่โล่ง ตลอดจนให้มีการบังคับใช้ในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป