xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่ฟังทางนี้! สธ.ดีเดย์ฉีดวัคซีนหัดเข็ม 2 จาก ป.1 เป็น 2 ขวบครึ่งในปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เล็งเปลี่ยนการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเข็ม 2 จากเดิม ป.1 เป็นอายุ 2 ขวบครึ่ง หลังพบเด็กต่ำกว่าวัยเรียนป่วยมาก เริ่มปี 2557 แนะผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดให้ครบทุกเข็ม ตั้งเป้าลดผู้ป่วยให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคนในปี 2563
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (6 ก.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ไทยได้มีข้อตกลงจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 ปี 2553 ให้ตั้งเป้าหมายการกำจัดโรคหัดให้สำเร็จทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2563 สธ.จึงอนุมัติแผนโครงการกำจัดโรคหัด ซึ่งเป็นแผนดำเนินการระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2563 พร้อมมอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน ร่วมด้วยหน่วยงานร่วมดำเนินการประกอบด้วย กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดในประเทศไทยลงให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี พ.ศ.2563

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร.กล่าวว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันโดยการไอ จาม หรือมีการพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด แม้โรคหัดมีอัตราป่วยตายต่ำ และในเขตชุมชนก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังคงเป็นอันตรายในเด็กทารกทั่วไปหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการจากชุมชนที่ยากจนและห่างไกล โรคหัดที่มีภาวะอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง หากรักษาล่าช้า อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือต้องรักษาตัวนาน บั่นทอนพัฒนาการและการเจริญเติบโต

“ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนัดหมายให้ครบถ้วน วัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งปัจจุบันให้ในรูปของวัคซีนรวม คือวัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุครบ 9 เดือน และครั้งที่สอง เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1” อธิบดี คร.กล่าวและว่า ในปี 2557 จะปรับเปลี่ยนการให้ครั้งที่สองจาก ป.1 เป็นอายุ 2 ปีครึ่ง เนื่องจากพบผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่าวัยเรียนเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กก่อนที่จะเข้าโรงเรียน สภาพปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหัดปีละประมาณ 4,000-7,000 ราย ทั้งนี้เป็นผู้ป่วยจากการวินิจฉัย ไม่ได้ตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหัดจริงๆ อาจจะมีจำนวนที่น้อยกว่านี้

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานกำจัดโรคหัดของหน่วยงานภาครัฐ นั้น ประชาชนก็มีส่วนช่วยให้โครงการกำจัดโรคหัดประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ 1.การพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามกำหนดนัดหมายให้ครบถ้วนทุกครั้ง 2.การเก็บรักษาสมุดอนามัยแม่และเด็ก(สมุดสีชมพู) ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับตัวเด็กในการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนเมื่อเข้าเรียน 3.ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยและหากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคหัดควรไปพบแพทย์และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น