xs
xsm
sm
md
lg

โล่ง! ไทยยังไร้ป่วยหวัดนก H7N9 H5N1 และโคโรนาไวรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สั่ง สสจ.ทุกแห่งเฝ้าระวัง หวัดนก H7N9 H5N1 และโคโรนาไวรัส 2012 เน้นเตรียมความพร้อม ซ้อมแผนฯ และเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 4 กลุ่มเสี่ยง ย้ำ ปชช.ยึดหลักความสะอาด เลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก และออกกำลังกายทุกวัน เสริมภูมิต้านทาน ชี้ทั้ง 3 โรคยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคทางเดินหายใจรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัส 3 ชนิด ได้แก่ ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 และโคโรนาไวรัส 2012 (Coronavirus 2012) ว่า แม้ไทยจะไม่พบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิดก็ตาม แต่ก็ให้ความสำคัญกับโรคดังกล่าวในระดับสูง โดยจะยึดแนวทางปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัย และความมั่นใจแก่ประชาชน เน้นความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังโรคในระดับพื้นที่ ดำเนินการทั้งในผู้ป่วย ในสัตว์ปีกทุกชนิด เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และในโรงพยาบาล

"ขณะนี้สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งประสานโรงพยาบาลเอกชนให้เตรียมความพร้อม จัดให้มีการซ้อมแผนรับมือ และเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยปอดบวมทุกราย ให้ซักประวัติ 1.การเดินทางจากต่างประเทศ 2.ประวัติบุคคลอื่นในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดที่มีอาการปอดบวม 3.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4.ประวัติสัมผัสสัตว์ปีก โดยเน้นย้ำพิเศษแม้ไม่มีประวัติดังกล่าว แต่ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ก็ให้ถือว่าต้องรายงานเพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจอย่างละเอียดทั้ง 3 โรคดังกล่าว ปัจจุบันห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัย ภายใต้เครือข่ายยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีศักยภาพสามารถตรวจยืนยันได้ และมีความร่วมมือกันอย่างดี” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ผลการติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-1 พฤษภาคม 2556 พบผู้ป่วย 18,005 ราย ไม่มีเสียชีวิต ผลการตรวจเชื้อพบเป็นเชื้อตามฤดูกาล ส่วนผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศมีรายงาน 60,376 ราย เสียชีวิต 303 ราย แนวโน้มการป่วยทั้ง 2 โรคลดลงเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ผลการตรวจเชื้อไม่พบเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิด

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน แต่โรคไข้หวัดนกทั้งสองสายพันธุ์เป็นโรคที่มียารักษา ผู้ที่มีอาการป่วยเป็นคล้ายไข้หวัดใหญ่ภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ได้แก่ ไข้สูง ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด ประชาชนทุกคนควรดูแลป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือฟอกด้วยสบู่บ่อยๆ การล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามฝ่ามือ ซอกนิ้ว ซอกเล็บลงได้ประมาณร้อยละ 80 การกินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว โดยเฉพาะสัตว์ปีกและไข่ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนอื่นรวมทั้งขอให้พักผ่อนที่บ้านจนกว่าจะหาย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก โดยเฉพาะเด็กๆ ขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวัง ​ส่วนในกลุ่มของผู้ทำงานสัมผัสสัตว์ปีก เช่น ผู้เลี้ยง ผู้ขนส่ง ชำแหละและจำหน่ายสัตว์ปีก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประการสำคัญจะต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตามมาชำแหละขายหรือรับประทานอย่างเด็ดขาดควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิด

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ได้แก่ เชื้อโคโรนาไวรัส 2012 องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2555-8 พฤษภาคม 2556 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 30 ราย เสียชีวิต 18 ราย ใน 5 ประเทศ คือ จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอังกฤษ องค์การอนามัยโลกได้ให้ทุกประเทศเฝ้าระวังโรคเป็นพิเศษในกลุ่มผู้ป่วยปอดบวมที่หาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน ไม่ได้มีข้อแนะนำจำกัด หรือข้อห้ามการเดินทาง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหากมีอาการไม่สบาย ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ขณะเดียวกัน ขณะนี้มีรายงานเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของโปรเมด ว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อีก 1 รายที่ประเทศฝรั่งเศส

สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 WHO รายงานยังคงพบในจีนและไต้หวัน ยอดจนถึงวันที่ 7 พ.ค. 2556 มีผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 130 ราย เสียชีวิต 31 ราย ยังไม่พบหลักฐานการติดเชื้อจากคนสู่คน ส่วนไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่มีรายงานตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ยังคงมีรายงานทุกปี จำนวนรวมจนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2556 มีผู้ป่วยทั่วโลก 622 ราย เสียชีวิต 371 ราย ใน 15 ประเทศ ในปี 2556 นี้ มีรายงานผู้ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 11 ราย ใน 3 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ จีน และกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น