xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ขีดเส้นสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องถึงแก่ชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหา นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ต่อคณะกรรมการร่วม 3 กองทุน เล็งขีดเส้นชัดเจนต้องเป็นฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต หากไม่ใช่ให้เข้าสิทธิฉุกเฉินแต่ละกองทุน พร้อมออกกฎหมายเพิ่มเติม บังคับ รพ.เอกชนห้ามบอกปัดไม่รับผู้ป่วย

นพ.สัมฤทธ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ระบุว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาลนั้นเป็นนโยบายที่ดี แต่ยังพบว่าการปฏิบัติมีปัญหา โดยเฉพาะการถูกเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นโยบาย ว่า เรื่องนี้ รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช.ทราบมาโดยตลอด และไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมามีแนวทางแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา มีข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบให้มีความยั่งยืน โดยหลักการสำคัญคือ ปิดช่องว่างที่มีของระบบต่างๆ ไม่ใช่ไปทดแทนระบบปกติที่มีของแต่ละกองทุน

นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า มาตรการสำคัญที่ต้องมี คือ 1.ให้มีกฎหมายรองรับ โดยมี สปสช.เป็นผู้จัดการระบบ 2.จำกัดขอบเขตของนโยบายนี้ไว้ที่ฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต และมีมาตรการสนับสนุนและกำกับอย่างมีประสิทธิผล โดยผู้ป่วยต้องไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการ และไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโดยตรง ทั้งนี้ แต่ละกองทุนยังต้องคงระบบการคุ้มครองและชดเชยบริการฉุกเฉินตามปกติสำหรับกรณีไม่ใช่วิกฤต หรือไม่ได้ขอแจ้งใช้สิทธิขณะรับบริการ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในระบบและไม่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน 3.ปรับเพิ่มค่าบริการสำหรับกรณีวิกฤตสีแดงให้เหมาะสม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอัตราใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จ ก.ย.นี้ 4.ให้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนต้องไม่ปฏิเสธการขอใช้สิทธิและเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยตรง

นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า 5.มีระบบการแจ้งขอใช้สิทธิและระบบอนุมัติตั้งแต่เริ่มเข้ารับบริการ ซึ่ง สพฉ.จะกำหนดเกณฑ์และระบบการจำแนกระดับฉุกเฉิน และเกณฑ์เมื่อพ้นจากภาวะวิกฤต โดยระบบนี้จะคุ้มครองกรณีเป็นฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ระบบจะออกเลขอนุมัติและโครงการนี้จ่ายให้ตามอัตราใหม่ที่จะตกลงกัน แต่หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่ถึงกับวิกฤต จะส่งต่อข้อมูลไปยังกองทุนที่รับผิดชอบดูแลต่อไป และโรงพยาบาลต้องมีการแจ้งขอใช้สิทธิตั้งแต่เริ่มรับเข้าบริการวันแรก หากไม่ได้แจ้ง ก็ยังคงไปใช้สิทธิในระบบปกติของตนได้ 6.จัดให้มีการบริการสายด่วนให้คำปรึกษา และ 7.มีระบบการจัดการของแต่ละกองทุนเพื่อส่งผู้ป่วยกลับเข้าสู่ระบบปกติโดยความสมัครใจเมื่อพ้นภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน

“ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่จะนำไปหารือในคณะกรรมการร่วม 3 กองทุนปลายเดือนนี้ และนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. ก.ย.นี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอต่อไป คาดว่าการดำเนินการตามข้อเสนอนี้น่าจะลดปัญหาที่มีได้ ในการนี้” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น