xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ผู้บริโภคจ่ายเพิ่มจานละ 1 บาท สุขภาพดีทั้งสองฝ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิชีววิถีเผย สารเคมีทำต้นทุนนาข้าวสูงขึ้น 3-5 เท่า ตกไร่ละ 1,500 บาท กระทบสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้บริโภค หนุนเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ขณะที่ผู้บริโภคจ่ายเพิ่มจานละไม่ถึง 1 บาท คุ้มค่าลงทุนสร้างสุขภาพ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวในการเสวนา “ข้าวอินทรีย์จากชุมชน” ภายใต้โครงการ “กินดี อยู่ดี ด้วยข้าวอินทรีย์ชุมชน” จัดโดยภาคีเครือข่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ร่วมกับ เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายตลาดนัดสีเขียว และโรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรในประเทศไทยถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรง สัดส่วนการนำเข้าสารเคมีที่ใช้นาข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปี 2555 มีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปี 2554 การใช้สารเคมีในนาข้าวมี 2 ส่วนคือ การใช้สารเคมีในนาข้าว และใช้เพื่อเก็บสต๊อกข้าว นอกจากนี้ ยังพบว่าต้นทุนในการทำนาปรังก็เพิ่มขึ้นจากที่ไม่ควรเกิน 300-500 บาทต่อไร่ แต่กลับพบว่ามีการใช้ต้นทุนสูงถึง 1,500 บาทต่อไร่ การใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค โดยจากการตรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในเลือดของเกษตรกรพบว่า มีเกษตรกรถึงร้อยละ 32 ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีในเลือดในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย

การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการสนับสนุนเกษตรกร จะช่วยลดผลกระทบในสิ่งแวดล้อม และเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ปัจจุบันมีสัดส่วนพื้นที่การเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพียงร้อยละ 0.1 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าการเปลี่ยนมาบริโภคข้าวอินทรีย์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงจานละไม่ถึง 1 บาทเท่านั้น เมื่อแลกกับสุขภาพของเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้บริโภค ถือว่าคุ้มค่ามาก” นายวิฑูร กล่าว

รศ.ดร.พรรณวดี พุธวัฒนะ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและวัฒนธรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคเรื้อรังในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งเกิดจากร่างกายได้รับสารปนเปื้อนต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม อาหาร พบว่าโรคมะเร็งหลายชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาหารเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคด้วย หน้าที่ของโรงพยาบาลนอกจากการรักษาโรค ยังต้องให้ความรู้และช่วยสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนด้วยด้วย โรงพยาบาลรามา ได้ร่วมสนับสนุนการจำหน่ายข้าวอินทรีย์จากชุมชนให้กับประชาชน ถือเป็นการเผยแพร่ความรู้ และชักชวนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

นางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด เครือข่ายตลาดสีเขียว กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคในส่วนของผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก การจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษเพิ่มขึ้นในระบบ ผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะปัจจุบันเกษตรกรมีความกังวลเรื่องตลาดที่จะส่งสินค้า หากมีตลาดที่มั่นคงจะทำให้เกษตรกรหันมาผลิตพืชผลปลอดสารพิษได้มากขึ้น ราคาก็จะถูกลงด้วย ซึ่งปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมตลาดนัดสีเขียวจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ อาหารเพื่อสุขภาพ และล่าสุดเป็นช่องทางจำหน่ายข้าวอินทรีย์ โดยจัดแบบหมุนเวียนไปสถานที่ต่างๆ ทั้งราชการ และเอกชน และยังมีการจัดทำระบบสมาชิก เพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรงด้วย โดยการจัดส่งผัก และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดสารพิษให้โดยตรง ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษให้ผู้บริโภคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลตลาดสดสีเขียว วัน เวลา สถานที่ จำหน่ายข้าวอินทรีย์ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.thaihealth.or.th หรือ www.facebook.com/food4change


กำลังโหลดความคิดเห็น