ภาคเหนือฆ่าตัวตายสูงเกิน 10 คนต่อแสนประชากร คาดมาจากการดื่มเหล้า โรคเรื้อรัง และอารมณ์อันอ่อนไหว ด้านระยองพบปัญหาฆ่าตัวตายพุ่งเช่นกัน อาจเกิดจากปัญหาการทำงานในโรงงาน ด้านกรมสุขภาพจิตเตรียมเฝ้าระวังปัญหาจิตจากภัยธรรมชาติเพิ่มเติม ในระดับภูมิภาคอาเซียน
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวแถลงข่าวการประชุมวิชาการวิกฤตสุขภาพจิตระดับชาติประจำปี 2556 เรื่อง “อาเซียนร่วมใจฝ่าภัยวิกฤตสุขภาพจิต (Go Through Mentdl Health Crisis : Strengthen ASEAN Collaboration)" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 ก.ค. 2556 ว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยปี 2555 พบว่า ความขัดแย้งที่รุนแรงลดลงในภาพรวม ความเครียดจากการเมืองก็ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาในแง่เศรษฐกิจ การงาน และความอ่อนไหวทางสังคม สะท้อนได้จากข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อประชากรแสนคนในปี 2555 อยู่ที่ 6.20 คนต่อแสนประชากร หรือประมาณ 3,985 คน ซึ่งมากกว่าปี 2554 ที่พบประมาณ 6.03 คนต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังอยู่ในเป้าหมายของการลดปัญหาการฆ่าตัวตายต้องไม่เกิน 6.5 คนต่อแสนประชากร
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า สำหรับการเฝ้าระวังรายจังหวัด ยังมีพื้นที่ที่น่าห่วงอยู่ 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งบางจังหวัดมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าปี 2554 คือเกิน 10 คนต่อแสนประชากร ได้แก่ เชียงราย 13.84 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 11.43 คนต่อแสนประชากร เชียงใหม่ 13.33 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 12.90 คนต่อแสนประชากร น่าน 15.09 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 12.17 คนต่อแสนประชากร และแม่ฮ่องสอน 13.92 คนต่อแสนประชากร มากว่าปี 2554 ที่พบ 9.86 คนต่อแสนประชากร
“สาเหตุการฆ่าตัวตายที่พบมากในภาคเหนือ กำลังอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบบ แต่เบื้องต้นคาดว่ามาจาก 1.การดื่มสุรา ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือมีปัญหาการต้มเหล้าเถื่อนและดื่มเหล้าเยอะ 2.โรคเรื้อรัง ส่งผลต่อสุขภาพจิตทำให้ร่างกายทรุดโทรม และ 3.อารมณ์อ่อนไหวง่าย จากปัญหาทางจิตใจ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า 2.พื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พบมีการฆ่าตัวตายสูงต่อเนื่อง อัตราเกิน 10 คนต่อแสนประชากรเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานหรือระบบการทำงานภายในโรงงาน และ 3.พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำ แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากนี้ กทม.ก็ยังพบปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องรู้จักควบคุมอามรณ์ตนเอง พยายามอย่าเครียด แบ่งเวลาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ก็ช่วยได้ทางหนึ่ง หรืออาจหาทางระบายออกด้วยการเล่าสู่กันฟังกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนที่สนิทไว้ใจได้ อย่าเก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ทั้งนี้ ส่วนปี 2556 อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่าก็ไม่น่าแตกต่างกันมากนัก
นพ.วชิระ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสุขภาพจิตในภูมิภาคอาเซียน ด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเดียวกัน มีวัฒนธรรมประเพณีใกล้เคียง ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ หรือความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกันหมด เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือและป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ และเหตุการณ์วิกฤตที่รุนแรง และเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียนได้หารือกันถึงความร่วมมือแก้ปัญหาสุขภาพจิตด้านต่างๆ ซึ่งจะมีการบรูณาการร่วมกันใน 10 ประเทศสมาชิก ทั้งการทำฐานข้อมูล การถอดบทเรียน และการสื่อสารความเสี่ยง การฟื้นฟูสุขภาพจิตร่วมกันด้วย