xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปีมีพระสงฆ์ป่วย 7.1 หมื่นรูป เหตุญาติโยมถวายอาหารทำลายสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระสงฆ์ไทยอ้วนลงพุง สธ.เผยเหตุอาหารญาติโยมถวายเสี่ยงก่อโรคไม่เรื้อรังเพียบ แถมออกกำลังกายน้อย แค่ครึ่งปี 2556 พบพระสงฆ์ป่วยเข้า รพ.แล้ว 7 หมื่นกว่ารูป แนะเข้าพรรษาควรถวายอาหารที่มีผัก ผลไม้ ไม่หวาน มัน และเค็มจัด ส่วนพระควรงดสูบบุหรี่ และเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (11 ก.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมนำอาหารที่ดีเท่าที่หาได้มาใส่บาตรพระ โดยมักเน้นที่ความน่ารับประทาน และความอร่อย แต่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์และโทษของอาหารที่นำมาถวายพระ ทั้งนี้ จากข้อมูลด้านการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ พบว่า ปี 2556 มีพระสงฆ์มารับการตรวจรักษา 71,037 ราย ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 5,090 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.17 โรคความดันโลหิตสูง 5,472 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.70 ภาวะไขมันในเลือดสูง 7,315 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.30 และจากการตรวจร่างกายพระสงฆ์ที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา พบว่า พระภิกษุสงฆ์ที่มารับการตรวจร่างกาย มากกว่าครึ่งเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่พบ คือ อ้วน และอ้วนลงพุง โดยวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI = Body Mass Index) และรอบเอวเกินมาตรฐาน (ปกติดัชนีมวลกายไม่เกิน 23 กิโลกรัม/ตารางเมตร และชายควรมีรอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร)

“ภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง นอกจากจะเสี่ยงต่อโรคต่างๆ แล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดตามมาด้วย จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยของพระมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากพระไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันตามที่ญาติโยมนำมาถวาย ประกอบกับพระภิกษุสงฆ์ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ สธ.จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ให้ปลอดภัยจากโรคไม่ติดต่อ” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การตักบาตรพระสงฆ์ในปัจจุบันควรเป็นอาหารที่ลด หวาน มัน เค็ม งดอาหารหมักดอง อาหารที่ควรถวายคืออาหารที่มีกากใยสูง ไขมันต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ผักและผลไม้สดรสไม่หวาน ปลาจะมีไขมันต่ำกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ หรือถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ควรให้ติดมันหรือหนัง การปรุงอาหารประเภทผัด หรือมีกะทิเป็นส่วนผสมต้องใช้น้ำมันน้อย กะทิน้อย และควรมีผัก/ผลไม้สดเป็นอาหารสำคัญในการใส่บาตรทุกครั้ง รวมทั้งงดการถวายบุหรี่แด่พระภิกษุ

พระสงฆ์ และสามเณร ควรปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ คือ เลิกบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ ดูแลตนเองให้มีวิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เช่น ทำความสะอาดวัด การเดินระยะใกล้แทนการนั่งรถ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม หมัก ดอง โดยเฉพาะอาหารเค็ม รวมทุกมื้อไม่ควรรับประทานเกลือเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน เพราะเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง หากพระรูปใดอายุเกิน 35 พรรษา ควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น