xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณสุขชู “ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี” สู้เบาหวาน-ความดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์วิศิษฐ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุขเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 1
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สาธารณสุขจัดประชุมเฝ้าระวังเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงที่เชียงใหม่ ชูแนวคิด “ปิงปองจราจรชีวิต” แยกผู้ป่วยเป็น 4 ระดับ 7 สี ก่อนกำหนดแนวทางรักษา-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ตรวจ สธ.แจง เดิมผู้ป่วยไม่รู้ระดับความรุนแรงทำให้ดูแลตนเองยาก แต่แยกระดับตามสีช่วยให้ง่ายขึ้น ปลื้มลองใช้ไม่นานผลลัพธ์ดีเกินคาด เตรียมเดินหน้าต่อ

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิ เอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม “การเฝ้าระวังควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้ปิงปองจราจรชีวิต” มี นพ.วิศิษฐ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุข เขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 1 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

การประชุมครั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปผลการทำงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานในแต่ละพื้นที่เกี่ยวกับการใช้แนวคิดปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต รวมทั้งสร้างภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมาก

โดยแนวทางปิงปองจราจรชีวิต 7 สีจะเป็นเครื่องมือคัดกรอง และจัดระดับความรุนแรงของโรคด้วยการเทียบกับปิงปองจราจรชีวิต 7 สีเพื่อจัดแบ่งประชาชนออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปกติ สีขาว กลุ่มเสี่ยง สีเขียวอ่อน กลุ่มป่วย ระดับ 0 สีเขียวเข้ม ระดับ 1 สีเหลือง ระดับ 2 สีส้ม และระดับ 3 สีแดง ส่วนกลุ่มผู้ป่ายที่มีภาวะแทรกซ้อนใช้สีดำ ส่วนการปฏิบัติงานจะมุ่งไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยหน้าใหม่ (สีเหลือง) ลดความรุนแรงของโรคจากสีแดงให้เป็นสีส้ม สีเหลือง และสีเขียวเข้ม รวมทั้งลดความเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มสีแดงไม่ให้มีโรคแทรกซ้อน (สีดำ)

นพ.วิศิษฐ์กล่าวว่า โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงถือเป็นหนึ่งในโรคที่สำคัญส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย โดยเป็นต้นตอของโรคร้ายแรงอื่น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคไต เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันด้วยพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้คนทำให้แนวโน้มของทั้งสองโรคทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในภาคเหนือ พบผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 3-5 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 10 แต่ในบางพื้นที่อาจมีตัวเลขที่สูงกว่านี้

ที่ผ่านมาแม้จะมีกระบวนการคัดกรองและรักษาผู้ป่วย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาทั้งต่อผู้ป่วยและผู้รักษาคือ การไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจที่ชัดเจน และรับทราบแนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อระดับความรุนแรงของโรคได้ แต่เมื่อมีแนวคิดเรื่องปิงปองจราจรชีวิตที่ นพ.วิชัยได้นำเสนอ ก็ช่วยให้การให้ข้อมูลต่อผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการเปรียบเทียบระดับอาการกับปิงปองจราจรชีวิตจะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจสถานการณ์ของตนเองว่าอยู่ในระดับใด ขณะเดียวกัน ผู้ดูแลรักษาก็สามารถให้ข้อมูลการปฏิบัติตน และกำหนดแนวทางการดูแลรักษาให้เหมาะสมได้

นพ.วิศิษฐ์กล่าวว่า แม้แนวทางดังกล่าวจะนำมาใช้ได้ไม่นานนัก แต่จากข้อมูลที่หลายหน่วยงานนำเสนอจากการทดลองปฏิบัติถือว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ โดยการใช้ปิงปองจราจรชีวิตสามารถช่วยให้หน่วยงานสาธารณสุขลดระดับความรุนแรงของผู้ป่วยที่อยู่ในระดับต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับพฤติกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าวต่อไป เพราะโรคทั้งสองโรคถือเป็นโรคสำคัญ มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากไม่มีการเตรียมการรับมือหรือป้องกันจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น