xs
xsm
sm
md
lg

วัณโรคควายระบาดสุรินทร์ ติดเชื้อแล้ว 3 ตัว สธ.สั่งเฝ้าระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สั่งเฝ้าระวังวัณโรคกระบือ หลังพบติดเชื้อแล้ว 3 ตัว ยันยังไม่ติดมาสู่คน แต่มีโอกาสติดหากคลุกคลีกับสัตว์ หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง แนะสังเกตอาการและคัดแยกสัตว์ป่วย ย้ำสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้ต้องทำลายทิ้งลูกเดียว เพราะไม่มียารักษา ตัดวงจรการแพร่ระบาด
แฟ้มภาพ
วันนี้ (4 ก.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ จ.สุรินทร์ ประกาศพบวัณโรคระบาดกระบือ (Bovine Tuberculosis)ตามชายแดน จ.สุรินทร์ พร้อมระบุให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกิดโรคระบาดในสัตว์ ว่า จากการตรวจสอบกระบือทั้ง 259 ตัว พบติดเชื้อวัณโรคแล้ว 3 ตัว ต้องทำลายทิ้งและใช้ยาฆ่าเชื้อที่รางน้ำ รางอาหาร ส่วนที่เหลือต้องกักบริเวณไว้ก่อนและต้องตรวจซ้ำจนกว่าจะได้รับการยืนยันผลการตรวจเลือดว่าติดเชื้อหรือไม่ หากพบติดเชื้อต้องทำลายทิ้งเช่นกัน

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า เชื้อวัณโรคในกระบือเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ไมโคแบคทีเรียม โบวิส การติดโรคจากสัตว์สู่สัตว์ มีหลายวิธีทั้งทางลมหายใจ การกินอาหาร การดื่มน้ำร่วมกัน หรือการที่ลูกดูดนมจากแม่ที่ติดเชื้อ เช่นเดียวกับในคนที่สามารถติดเชื้อวัณโรคจากกระบือได้เช่นเดียวกัน โดยในคนนั้นจะติดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สัมผัสสารคัดหลั่งของกระบือ การคลุกคลีกับสัตว์ การบริโภคนมกระบือที่มีเชื้อวัณโรคและไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ การรับประทานกระบือแบบสุกๆ ดิบๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สธ.ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) เฝ้าระวัง ป้องกัน การแพร่ระบาดมาสู่คนอย่างใกล้ชิด ให้ความร่วมมือกับปศุสัตว์ในการควบคุมโรคในสัตว์

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร.กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จ.นครราชสีมา (สคร.5) ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรควัณโรคกระบือมาสู่คนอย่างใกล้ชิด จากรายงานเบื้องต้นพบว่า บุคลากรที่ใกล้ชิดกับสัตว์ในศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ไม่มีใครป่วยเป็นวัณโรคหรือมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด สำหรับอาการของสัตว์ที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่ระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงหลังจากได้รับเชื้อเป็นระยะเวลาค่อนข้างนานหลายเดือนหรือหลายปี ส่วนใหญ่จะพบว่าสัตว์ป่วยอ่อนแอ ผอม น้ำหนักลด ไอ หอบ อาจพบมดลูกหรืออัณฑะอักเสบ และตายในที่สุด

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า หากคนได้รับเชื้อวัณโรค คนป่วยจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอถี่ ไอรุนแรง เสมหะมีเลือดปน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก การรักษาจะใช้เวลานาน ในรายที่ป่วยถึงขั้นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต หากประชาชนตรวจพบว่าสัตว์เป็นโรคควรแยกสัตว์ที่ป่วยออกจากฝูง และทำลายหรือกำจัดทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรทำการตรวจกระบือบริเวณใกล้เคียงด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มาตรวจสอบโดยเร็ว และควรทำการตรวจสัตว์บริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด

หากพบว่าสัตว์ป่วยเป็นวัณโรคควรทำการฆ่าทิ้ง เพราะยังไม่มียาที่รักษาได้ผลดี และเป็นลดการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ ควรทำการตรวจโรคกับโรงเลี้ยงสัตว์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย เพราะสัตว์ที่ป่วยเป็นวัณโรคส่วนใหญ่จะไม่มีการแสดงอาการ อย่างไรก็ตามโรควัณโรคปกติแล้วในสัตว์จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันอยู่แล้ว ในส่วนของกรมควบคุมโรคก็มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดมาสู่คนต่อไป” อธิบดี คร. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น