xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : หลัก 5ป. 1ข. ลดป่วยจาก “ไข้เลือดออก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนที่เป็นฤดูกาลการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกยังคงน่าเป็นห่วง มีผู้ป่วยและเสียชีวิตในแต่ละสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังสถานการณ์และวิเคราะห์ทุกสัปดาห์มาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากนักวิชาการคาดการณ์ว่า แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปี 2555

เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรค และจากการติดตามสถานการณ์พบว่า อัตราป่วยแล้วเสียชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในหนุ่มสาว เนื่องจากเข้าใจผิดว่าไข้เลือดออกเป็นเฉพาะในเด็ก มักไปซื้อยากินเองหรือไปรักษาที่คลินิก เมื่อไม่หายหรือมีอาการหนักแล้วจึงไปโรงพยาบาล ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูง

“สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือสายพันธุ์ โดยปกติไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทย มี 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4 หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต กล่าวคือจะไม่ป่วยจากสายพันธุ์เดิมอีกและจะมีภูมิคุ้มกันต่ออีก 3 สายพันธุ์ในระยะสั้นๆประมาณ 6-12 เดือน

เมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 และเป็นเชื้อต่างสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด จะทำให้เกิดอาการช็อค เนื่องจากพลาสม่ารั่วออกจากเส้นเลือด เลือดจึงมีความเข้มข้นสูง ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้ง่าย ดังนั้น คนที่มีอายุมากส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มาก”

ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่มกราคม - 18 มิถุนายน 2556 พบว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมทั่วประเทศ 48,592 ราย เสียชีวิต 59 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปีร้อยละ 29 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนร้อยละ 52 ผู้ป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปีร้อยละ 31 เป็นนักเรียนร้อยละ 54 โดยมีผู้ป่วยสะสมสูงสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14,203 ราย เสียชีวิต 16 ราย ภาคใต้ 11,990 ราย เสียชีวิต 23 ราย ภาคกลาง 11,960 ราย เสียชีวิต 10 ราย และภาคเหนือ 10,439 ราย เสียชีวิต 10 ราย

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นมาตรการที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุด เพราะเป็นการกำจัดที่แหล่งต้นตอของโรคโดยตรง โดยให้ทุกบ้านยึดหลัก 5 ป. 1 ข. เป็นวิธีการในการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยตนเอง ได้แก่

1. ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่
2. เปลี่ยนน้ำแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำกลายเป็นยุง
3. ปล่อยปลากินลูกน้ำเช่น ปลาหางนกยุง ปลากัด ในภาชนะใส่น้ำถาวร
4. ปรับปรุง ทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักยุงลาย
5. ปฏิบัติจนเป็นนิสัย


ส่วน 1.ข คือ ขัดล้างไข่ยุงลายตามผนังภาชนะ นอกจากนี้ ยังได้ขอให้แต่ละครัวเรือนใช้ยาทากันยุงป้องกันยุงกัดด้วย

สังเกตไข้เลือดออก

ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง 1-2 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง หน้าแดง ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก โดยให้รีบไปพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยไว้หลายวัน หรือซื้อยาลดไข้มากินเอง เพราะหากปล่อยไว้จะเข้าสู่ภาวะไข้เลือดออกช็อค เป็นอันตรายมาก รักษายาก และอาจเสียชีวิตได้

หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสายด่วน ฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น