ยา คือวัตถุที่มีจุดมุ่งหมายในการ ป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และรักษาโรค ถ้าใช้ยาให้ดี ถูกวิธีก็มีคุณอนันต์ แต่ถ้าไม่ถูกวิธี ก็มีโทษมหันต์ได้เช่นกัน อ.ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล ที่ปรึกษาองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข ได้ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ยาไว้ดังต่อไป
1.ใช้ยาให้ถูกกับโรค อย่างเช่น อาการไอ ก็แบ่งออกเป็นไอแห้ง คือไอไม่มีเสมหะ กับไอเปียก คือมีเสมหะ ก็ใช้ยาคนละกลุ่มกัน ดังนั้น ต้องวินิจฉัยว่ามีเสมหะหรือไม่ จึงจะได้ใช้ยาให้ถูกกับโรค
2.ใช้ยาให้ถูกกับคน อย่างเช่น ยาตัวหนึ่งใช้กับคนคนหนึ่งได้ รักษาหาย แต่พอไปใช้กับอีกคน ไม่ได้ผล หรือคนหนึ่งใช้ไม่แพ้ แต่อีกใช้กลับแพ้ ดังนั้น ต้องจำไว้ให้ได้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไรบ้าง ไม่ใช่ใครใช้ยาตัวไหนก็ได้
3.ใช้ยาให้ถูกกับเพศ อย่างเช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ก็ใช้เฉพาะผู้หญิง หรือผู้ชายที่ศีรษะล้าน ใช้ยาตัวฟีแนสเตอร์ไรด์ได้ แต่ผู้หญิงใช้ไม่ได้ เพราะอาจจะส่งผลต่อเรื่องฮอร์โมนเพศในผู้หญิง
4.ใช้ยาให้เหมาะกับวัย ยาบางตัวใช้ได้เฉพาะผู้ใหญ่ ใช้กับเด็กไม่ได้ เช่น ยาปฏิชีวนะบางตัว ในผู้ใหญ่ใช้แล้วไม่มีผลเสีย แต่ในเด็กจะทำให้กระดูกมีผลเสียทันทีหรือฟันจะดำจะเหลืองถาวรเลย
5.ยาทานก่อนอาหาร อย่างน้อยต้อง 15 นาทีขึ้นไป ถ้าจะให้ดีต้องครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมงไปเลย ทำไมต้องกินก่อนอาหาร เพราะว่ายาบางตัวมันจะดูดซึมได้ดีตอนท้องว่าง ยาบางตัว เราต้องรับประทานก่อนอาหารเพื่อเตรียมตัวให้ร่างกายปฏิบัติหน้าที่ อย่างยาเบาหวานบางตัว จะกระตุ้นให้อินซูลินหลั่งออกมาก่อนทานอาหาร เพราะฉะนั้น ต้องเตรียมก่อน
ถ้าลืมกินก่อนอาหาร เราสามารถรับประทานหลังอาหารสองชั่วโมงได้ เป็นการทดแทน แต่ทางที่ดีควรไม่ให้พลาด เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของระยะเวลาการให้ยาที่ต้องมีความสม่ำเสมอ
ยาเม็ดคุมกำเนิด กินเวลาเดียวกันจะดีที่สุด เช่น คนที่จะกินยาเม็ดคุมกำเนิดก่อนนอน ก็กินก่อนนอนเป็นประจำ เป็นเวลาเดียวกัน ยาจะได้ออกฤทธิ์สม่ำเสมอ
6.ยาหลังอาหาร แบ่งเป็นสองอย่าง คือ หลังอาหารทันที กับหลังอาหารทั่วไป ซึ่งไม่ได้เคร่งครัดมาก ถ้าหลังอาหารทันทีก็คือกินข้าวอิ่มก็กินยาต่อได้เลย อย่างพวกยาแอสไพรินแก้ปวดหรือยารักษากระดูก ต้องกินหลังอาหารทันทีแล้วดื่มน้ำตามมาก เนื่องจากยาพวกนี้สามารถทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้ จะต้องไม่กินตอนท้องว่างๆ แต่หลังอาหารทั่วไป หลัง 15 นาที หรือหนึ่งชั่วโมง
7.ยาพร้อมอาหาร มักจะใช้กับพวกแคลเซียมคาโบเนท เพราะว่าช่วงที่เรากินยาไปแล้ว ระยะหนึ่ง กว่ายาจะเข้าไปสู่กระเพาะ จะเป็นจังหวะเดียวกับที่กรดจะหลั่งออกมาเยอะ มันจะทำให้แคลเซียมซึ่งต้องอาศัยความเป็นกรดแตกตัวและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี บางคนไปกินตอนท้องว่างไม่ได้ประโยชน์อะไร กินพร้อมอาหารดีที่สุด
8.ยาที่ต้องเคี้ยวแล้วกลืน ก็ควรเคี้ยวให้ละเอียด อย่างพวกยาลดกรดชนิดเม็ด แคลเซียมชนิดเม็ด รวมทั้งยาถ่ายพยาธิชนิดเม็ด ต้องให้แตกตัวง่าย ดูดซึมง่าย
9.ยาที่ห้ามเคี้ยว ยาที่ออกฤทธิ์กับโรคหัวใจ ความดัน หรือยาที่ต้องออกฤทธิ์นานๆ พวกนี้ห้ามเคี้ยว หรือยาเม็ดเคลือบ ยาระบายชนิดเคลือบ ถ้าเคี้ยวอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่นยาระบายเม็ดเหลืองๆ เล็กๆ ถ้าเคี้ยวเมื่อไหร่ จะทำให้ปวดท้อง เพราะแทนที่ยาจะไปออกฤทธิ์ที่ลำไส้ ยาจะไปออกฤทธิ์ที่กระเพาะแทน ทำให้กระเพาะบีบตัวและทำให้ปวดท้อง
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo