“หมอประดิษฐ” ย้ำปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเวลานี้ สะท้อนชัดห้ามมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียวไม่ได้ผล เสนอใช้วิธีสอนให้รู้การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยร่วมด้วย เล็งเพิ่มแผนการเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิด เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ชี้โอกาสสำเร็จจะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติมีโอกาสเกิดได้ และการเข้าถึงการคุมกำเนิดไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 ว่า ในที่ประชุมได้หารือในเรื่องแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หากสามารถสอนเด็กไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรถือเป็นการป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดจะทำให้ปัญหาหมดไป แต่ขณะนี้มีปัจจัยอื่นๆ หลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ด้านครอบครัว และบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการต่อไปคือการให้วัยรุ่นเข้าถึงวิธีคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ รวมทั้งเป็นการป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่การสนับสนุนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่จะช่วยป้องกันปัญหาได้ ขณะเดียวกันจะต้องสร้างความเข้าใจและการยอมรับของสังคมเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อน สิ่งที่จะทำต่อไปคือการส่งเสริมความรู้ในการคุมกำเนิด และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน เชื่อว่าในระยะสั้นอาจจะลดได้ทันที และในระยะยาวก็จะสามารถใช้กลยุทธ์ทางการศึกษาที่จะเข้าไปทำให้เกิดความเข้าใจต่อไปได้
“การวางยุทธศาสตร์ป้องกันการตั้งครรภ์ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำไม่ใช่เป็นการไปสนับสนุนวัฒนธรรมที่ไม่ดี แต่เป็นวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่สามารถทำได้ ทันที โดย การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ไปพร้อมๆ กับหามาตรการเพื่อให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันของชีวิต มีเพศสัมพันธ์ในเวลาอันควร หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางวิธีดำเนินการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ประชุมได้เสนอตั้งคณะทำงาน จากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ บูรณาการการทำงาน ระดมความคิดเห็นหาช่องทางการสื่อสาร แก่ประชาชนใน 2 ประเด็นหลักเพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้างและยอมรับเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งหากสังคมยอมรับและร่วมมือกัน ภาครัฐก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และยุทธศาสตร์การเข้าถึงการคุมกำเนิดอย่างได้ผลและปลอดภัยควบคู่กับการสอน การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ โดยมอบหมายให้กรมอนามัยพัฒนาช่องทางบริการเพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้หารือกรณีหากมีการตั้งครรภ์แล้วจะให้การช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าว สธ.จะทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย