xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งแก้ปัญหาวัยใสตั้งครรภ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เร่งขับเคลื่อนอนามัยการเจริญพันธุ์ จับมือทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การมีเพศสัมพันธ์และท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นที่พบว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก มีแนวโน้มของอายุที่น้อยลงเฉลี่ยอยู่ที่ 15-16 ปี ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่วนใหญ่เกิดจากใช้วิธีคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอหรือไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากขาดความรู้และมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการร่วมเพศ คิดว่าร่วมเพศครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ หรือหากใช้ถุงยางจะขัดขวางความรู้สึกทางเพศ และไม่รู้ว่าตนเองจะมีโอกาสตั้งครรภ์เมื่อใด นอกจากนี้ วัยรุ่นยังไม่กล้าเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับบริการคุมกำเนิด ส่งผลให้วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า จากพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เช่น ส่งเสริมให้ครอบครัวมีลูกเมื่อพร้อม สนับสนุนให้โรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้เพศศึกษา ส่งเสริมให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งเน้นการเข้าถึงการให้บริการในกลุ่มวัยรุ่น โดยจัดบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (Youth Friendly Health Service : YFHS)

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาและพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์กรมอนามัย โดยใช้มาตรการและแนวทางการดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำวัยรุ่นให้มีความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ เพราะธรรมชาติของวัยรุ่นเมื่อมีปัญหาจะไม่กล้าปรึกษากับพ่อแม่หรือครู แต่จะหันไปปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนแทน หากเพื่อนไม่มีความรู้หรือแนะนำไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ กรมอนามัยได้ดำเนินการเฝ้าระวังการทำแท้งในประเทศไทย โดยโรงพยาบาลนำร่อง 134 แห่ง จาก 13 จังหวัดทั่วประเทศพบว่าร้อยละ 53 ของผู้ป่วยที่มาทำแท้งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเยาวชน ร้อยละ 30 มีสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษา และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดปัญหาวัยรุ่นต้องขาดโอกาสในการศึกษา และต้องรับภาระในการดูแลบุตรในขณะที่ตนเองยังไม่พร้อม

“ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อแก้ไขดังกล่าวมีผลงานวิจัยจากหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าสามารถป้องกันการตั้งครรภ์และการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ รวมทั้งการอบรมแพทย์และพยาบาลที่ให้บริการแก่สตรีที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ การดูแลหญิงหลังแท้ง การรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย และการป้องกันการแท้งซ้ำซาก เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นให้ดีขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น