สธ.เผาทำลายยาเสพติดของกลางรวมกว่า 3.3 ตัน มูลค่ากว่า 10,080 ล้านบาท เผยปีนี้บำบัดผู้ติดยาเสพติดแล้วกว่า 1.5 แสนราย จากเป้าหมาย 3 แสนราย ร้อยละ 84 ติดยาบ้า โดย 1 ใน 3 เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 18-24 ปี พบอาชีพรับจ้างติดยามากที่สุด
วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 42 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี ว่า แนวโน้มการระบาดของยาเสพติดอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง รายงานล่าสุดขององค์การสหประชาชาติในปี 2553 ทั่วโลกมีผู้เสพสารเสพติดอายุ 15-64 ปี จำนวน 153-300 ล้านคน สารเสพติดที่ใช้มากที่สุด อันดับ 1 คือ กัญชา 119-224 ล้านคน รองลงมาคือยาบ้า 14 -52 ล้านคน และฝิ่น 26-36 ล้านคน นอกจากนี้ พบว่า ผู้ที่ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 3 ล้านคน และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี 9 ล้านคน
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดและบำบัดผู้ติดสารเสพติด ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าบำบัดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน จากที่คาดว่าน่าจะมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 2 ล้านคน ทั้งนี้ ปริมาณยาเสพติดของกลางที่ อย.ตรวจรับมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมปี 2553 ตรวจรับยาเสพติด 4,300.88 กิโลกรัม จาก 42,803 คดี เพิ่มเป็น 7,780.33 กิโลกรัม จาก 76,739 คดี ในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นเมทแอมเฟตามีนร้อยละ 80 ของยอดคงคลัง ส่วนปี 2556 ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.ตรวจรับ 2,881.63 กิโลกรัม จาก 22,121 คดี หลังจากเผาทำลายในครั้งนี้จะยังมียาเสพติดของกลางคงเหลือเก็บรักษาที่ อย.อีกกว่า 28 ตัน จาก 213,488 คดี มูลค่ากว่า 83,735 ล้านบาท ซึ่ง อย.จะขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกลางเพื่อขออนุมัติทำลายต่อไป
“ผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในรอบ 9 เดือน ในปีงบประมาณ 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 - 7 มิ.ย. 2556 ผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล 1,287 แห่งทั่วประเทศ รวม 158,012 คน โดยเป็นผู้บำบัดโดยระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 84,404 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 60,622 คน และในระบบต้องโทษ 12,986 คน โดยผู้ที่เข้ารับการบำบัด 1 ใน 3 อายุระหว่าง 18-24 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ร้อยละ 92 เป็นชาย โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 69 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 29 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 2” รมช.สาธารณสุข กล่าวและว่า ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ยาบ้า ร้อยละ 84 ยาไอซ์ ร้อยละ 5 และกัญชา ร้อยละ 4 อาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุด คือรับจ้าง ร้อยละ 45 รองลงมาคือ ว่างงาน ร้อยละ 17 เกษตรกร ร้อยละ 14 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7
ทั้งนี้ ยาเสพติดที่เผาทำลายครั้งนี้ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นกว่า 3,363 กิโลกรัม จาก 2,584 คดี รวมมูลค่ากว่า 10,080 ล้านบาท ได้แก่ เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า จำนวนรวมกว่า 2,793 กิโลกรัมหรือประมาณ 31 ล้านเม็ด มูลค่าประมาณ 9,312 ล้านบาท ยาไอซ์จำนวนรวมกว่า 298 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 597 ล้านบาท เฮโรอีนจำนวนรวมกว่า 125 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี หรือ ยาอี จำนวนรวมกว่า 4 กิโลกรัม (ประมาณ 16,570 เม็ด) มูลค่า ประมาณ 16 ล้านบาท โคคาอีน จำนวนรวมกว่า 17 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 51 ล้านบาท เป็นต้น ของกลางทั้งหมดนี้จะเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอเรชัน (Pyrolytic Incineration) ซึ่งเป็นการเผาในเตาที่อุณหภูมิความร้อนสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส ทำให้สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิด สลายตัวเป็นเถ้าถ่านทั้งหมดภายในเวลารวดเร็วไม่สามารถนำไปใช้ได้อีก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยหลังเผาทำลายแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มตัวอย่างเถ้าในเตาเผา เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่า มียาเสพติดเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจที่ผ่านมาทุกครั้ง ไม่พบสารเสพติดเหลืออยู่ในขี้เถ้าของกลางแต่อย่างใด