xs
xsm
sm
md
lg

หมอชนบทขีดเส้นรัฐเยียวยา P4P สิ้นเดือนนี้ ถ้ายื้อก่อม็อบแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ชนบทขีดเส้นต้องเริ่มเยียวยา P4P สิ้น มิ.ย.นี้ หากยื้อเวลามีสิทธิก่อม็อบ เตรียมเสนอเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนฉบับ 10.1 เพิ่มเงินให้วิชาชีพอื่น พยาบาล 600-700 บาท เภสัชฯ 800-900 บาท โยนภาระให้ รบ.หาเงินเพิ่มอีก 700 ล้านบาท ยัน รพช.จะทำ PQO แทน P4P เน้นให้ค่าตอบแทนแบบเป็นทีม เล็งออกเป็นประกาศฉบับ 11

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการฯ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมปรึกษาหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อชี้แจงแก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ตัวแทนสหวิชาชีพต่างๆ จากโรงพยาบาลชุมชนทั้งสิ้น 738 แห่ง รวมกว่า 1,000 คน ว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงให้เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) รับทราบถึงความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ภายหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลและเครือข่ายฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ประเด็น P4P ซึ่งยังไม่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยเยียวยาจากการทำและไม่ทำ P4P ทั้งนี้ ตนยังไม่ทราบว่าจะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากคณะทำงานย่อยชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมี พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน จะมีการประชุมกันในวันที่ 21 มิ.ย.นี้

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับใหม่ คือ ฉบับ 10 ซึ่งอิงหลักเกณฑ์การจ่ายตามฉบับ 4 และ 6 ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่าเดิม โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้โรงพยาบาลชุมชนจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 211 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณที่ต้องจ่ายให้บุคลากรลงไปร้อยละ 30 หรือประมาณ 500 ล้านบาท แต่เป็นในส่วนของแพทย์และทันตแพทย์เท่านั้น ส่วนวิชาชีพอื่นๆ จะเพิ่มเงินให้ในฉบับ 10.1 ซึ่งตัวเลขค่าตอบแทนนี้เป็นตัวเลขที่ชมรมแพทย์ชนบทกำหนด คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 1,000-1,200 ล้านบาท แต่เมื่อหักลบในส่วนที่ช่วยลดงบประมาณลงไป 500 ล้านบาทแล้ว เท่ากับว่ารัฐบาลจะต้องหางบประมาณมาเพิ่มอีกประมาณ 500-700 ล้านบาท

วิชาชีพอื่นที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จะเพิ่มเงินให้ 300-400 บาท ระดับปริญญาตรีขึ้นไป 600-700 บาท เภสัชกรฯเพิ่มขึ้น 800-900 บาท เช่น เดิมเคยได้รับ 3,000 บาท ก็จะได้ 3,800 บาท พยาบาลเดิมได้ 1,200 บาท ก็จะได้ 1,800 บาท เป็นต้น ซึ่งฉบับ 10.1 นี้กำลังของให้ทุกวิชาชัพพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือนจึงจะเสนอให้คณะทำงาน P4P พิจารณา” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวและว่า ที่ประชุมมีมติเสนอให้คณะทำงาน P4P ดำเนินการชดเชยเยียวยาภายใน มิ.ย.นี้ ตามหลักเกณฑ์ฉบับ 10 หากไม่มีความคืบหน้าใดๆ ก็จะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดท่าทีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำ P4P ในบริบทของโรงพยาบาลชุมชน เสนอให้ใช้ PQO (Pay for Quality and Outcome) แทน โดยอาจออกระเบียบใหม่เป็นฉบับ 11 ซึ่งเน้นรูปแบบการจ่ายเงินแบบทีมงาน เพื่อใช้แทนฉบับ 9 ที่บังคับทำ P4P ทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน และ 2.ประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และผลการสอบสวนกรณีปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากผู้อำนวยการ อภ.ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องจำนวนตัวแทนที่เข้าไปเป็นคระกรรมการ ที่สำคัญ รมว.สาธารณสุข ไม่ยอมให้มีตัวแทนจากสหภาพฯ เข้าร่วม จึงต้องมีการหารืออีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น