xs
xsm
sm
md
lg

มติ กก.เครือข่ายฯ เสนอชะลอยุบ ร.ร.เล็กกว่า 5 พันโรง เว้น 113 โรงที่ไร้เด็กเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด กก.เครือข่ายฯ นัดแรกมีมติให้ สพฐ.เสนอ “พงศ์เทพ” ชะลอยุบ ร.ร.เล็ก นร.น้อยกว่า 60 คน จำนวนกว่า 5,000 โรง ยกเว้น 113 โรงที่มีหลักฐานชัดว่าไร้เด็กเรียน และให้ทำแผนพัฒนารายโรงโดยจัดโซนนิงเป็น 5 ภาค มีอนุกรรมการระดับภาคดูแล เน้นดึงชุมชน ท้องถิ่น ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะให้ อบต.ดูแล ร.ร.ประถม และ อบจ.ดูแลมัธยม พร้อมเสนอทำหนังสือประสาน มท.ขอให้จัดสรรงบเพื่อพัฒนาการศึกษาด้วย รวมทั้งขอให้แก้เกณฑ์คัดเลือกผอ.ร.ร.ขนาดเล็กรวมถึงปรับหลักสูตรการเรียนของ ร.ร.ขนาดเล็กให้เหมาะสม

วันนี้ (13 มิ.ย.) เมื่อเวลา 16.30 น. นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำเสนอนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ให้ชะลอการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คนไว้ก่อน ยกเว้นโรงเรียน จำนวน 113 โรง ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่มีนักเรียนเลย จึงให้ดำเนินการยุบได้ แต่ที่เหลืออีก 5,867 โรง ให้ชะลอการยุบไว้เพื่อทำแผนพัฒนาโรงเรียนเป็นรายโรง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำแผนพัฒนาโรงเรียขนาดเล็กเป็นรายโรงนั้น ที่ประชุมกรรมการมีมติให้จัดโซนนิงโรงเรียนขนาดเล็กออกเป็น 5 ภาค และให้ตั้งคณะอนุกรรมการระดับภาคขึ้นมา เพื่อทำแผนพัฒนาโรงเรียนในโซนนิงของตนเอง โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั้ง 182 เขต ส่งข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กให้กับกรรมการ เพื่อใช้วางแผนพัฒนาโรงเรียนให้มีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าจะให้ท้องถิ่น ชุมชน เป็นแกนหลักในการช่วยพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐวิสาหกิจ เอกชน และที่สำคัญคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะให้ประสานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้มาร่วมรับผิดชอบโรงเรียนประถมขนาดเล็ก และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมรับผิดชอบโรงเรียนมัธยม ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) ขอให้ อบต.และ อบจ.จัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นให้เป็นหลักประกันว่า แม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหาร อปท.ไปแล้วแต่การศึกษาจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเช่นนี้ต่อไป

ประธานกรรมการ กล่าวอีกว่า นอกจากการสร้างระบบที่เปิดโอกาสให้ชุมชน เอกชน มามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว ที่ประชุมยังต้องการให้ปรับปรุงเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารของโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถคัดสรรผู้บริหารที่ใส่ใจพัฒนาโรงเรียนจริงๆ และมีกำหนดเวลาในการครองตำแหน่งที่ชัดเจนไม่ใช่มาเป็นผู้บริหารอยู่แค่ 1 ปีก็ย้ายไปที่อื่น ขณะเดียวกัน ต้องการให้มีการปรับหลักสูตรโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เพื่อเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนที่ปลูกฝังให้เด็กรักและเข้าใจชุมชน

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมการระดับภาคนั้น จะมีการทำฐานข้อมูลของโรงเรียนขนาดเล็กทั้ง 5,000 กว่าโรง ครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูล จำนวนนักเรียน ครู ต้นทุน อาคารสถานที่ และรวมถึงศักยภาพของชุมชนและบริบทต่างๆ ในชุมชนนั้นด้วย ข้อมูลเอกชนที่จะเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนได้ ทั้งนี้ เพราะมีการปรับแนวคิดใหม่เลิกมองว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นหน้าที่ในการจัดการศึกษาของรัฐฝ่ายเดียวแต่มองว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นสถาบันในชุมชน เพราะฉะนั้น ภาครัฐและชุมชนต้องมาร่วมกัน เพื่อพัฒนาโรงเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น