สพฐ.ได้ข้อมูล ร.ร.ขนาดเล็ก น้อยกว่า 60 คนทั่วประเทศครบ 100% แล้ว พบมีเกือบ 6 พันโรง ชี้ไม่มีเขตพื้นที่ฯ ชงยุบเลิก ยุบรวมแม้แต่แห่งเดียวมีเพียงเสนอแผนเคลื่อนย้าย นร.มาเรียนรวมกันกันสองพันกว่าโรง ที่เหลือเสนอ รมว.ศึกษา และกรรมการร่วมวางแผนและขอความร่วมมือจากชุมชนมาพัฒนาโรงเรียน
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 182 เขตทั่วประเทศ ยกเว้น กทม.ได้รายงานข้อมูล โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คนมาแล้ว พบว่า ทั่วประเทศมีโรงเรียนดังกล่าวทั้งหมด 5,949 โรง ในจำนวนนี้ 2,686 โรง มีแผนบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพเรียบร้อยแล้วโดยใช้วิธีจัดเป็นเครือข่ายแล้วเคลื่อนย้ายนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนที่โรงเรียนหลัก ชั้นเรียนที่นำนักเรียนมารวมกันจะมีจำนวนนักเรียนพอเหมาะสำหรับจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงจะทำให้มีครูครบทุกชั้นเรียน ครบทุกวิชามากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังมีโรงเรียนอีก 2,891 โรง ซึ่งยังไม่ได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ หรือจัดทำแนวทางเคลื่อนย้ายนักเรียนไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่น ซึ่ง สพฐ.ได้มอบหมายให้เขตพื้นที่ฯ ไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะให้เขตพื้นที่ฯไปทำประชาคมกับชุมชนเพื่อวางแผนบริหารจัดการโรงเรียนเล็กร่วมกัน เพราะ สพฐ.ต้องการให้การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
“สพฐ.ต้องนำข้อมูลที่เขตพื้นที่ฯ ส่งมาทั้งหมดไปจัดทำรายงานในภาพรวมเพื่อนำเสนอนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ และเสนอคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชน ที่มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธาน เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะโรงเรียนในกลุ่มที่ 2 นั้นจะต้องนำมาเจาะลึกเป็นรายโรงว่าจะมีแผนพัฒนาโรงเรียนอย่างไร โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดเการโรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม จากรายงานของเขตพื้นที่ฯ พบว่ามีโรงเรียนจำนวน 372 โรง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ เช่น ในเกาะหรือในพื้นที่สูง ซึ่งไม่สามารถที่จะยุบรวมหรือยุบเลิกได้ นอกจากนั้นยังพบว่ามี โรงเรียนจำนวน 118 โรงที่ไม่มีตัวป้อนแล้ว” นายชินภัทร กล่าว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า สพฐ.จะไม่สามารถยุบเลิกโรงเรียนที่ไม่มีตัวป้อนเหล่านี้ได้ทันที เพราะมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม เลิก สถานศึกษา พ.ศ.2550 สาระสำคัญ คือ โรงเรียนที่จะยุบเลิกได้ต้องไม่มีตัวป้อนแล้วและต้องได้รับความเห็อบจากเขตพื้นที่ฯ ซึ่ง สพฐ.ก็ต้องดำเนินการตามนั้น โดยเขตพื้นที่ฯ จะต้องมีการติดตาม และดูว่าจะสามารถใช้โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษานอกระบบ หรือภารกิจอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาได้หรือไม่ นอกจากนี้จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะเราจะต้องยึดหลักไม่บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กโดยใช้ระบบราชการฝ่ายเดียว แต่จะต้องเน้นการมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้แล้ว สพฐ.จะทำ School Mapping กำหนดที่ตั้งของโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด พร้อมทำฐานข้อมูลของโรงเรียนขราดเล็กไม่ว่าจะเป็นชื่อโรงเรียน จำนวนนักเรียน และจำนวนครู และข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน