xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ผักจากความสามัคคี ผักปลอดสารพิษจากซำสูง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...รัชญา จันทะรัง

“เจ้ายังซิกล้าเฮ็ดอยู่บ่”

...นั่นเป็นประโยคคำถามที่ “ประจัญ ขันพิมล” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “เกษตรประจัญ” จะใช้ถามกับสมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์ปลูกผักปลอดสารพิษที่ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น แต่โชคดีที่ยังไม่สมาชิกรายใดในกลุ่มนี้ได้รับคำถามนั้นและต้องออกจากกลุ่มไป เพราะไม่ซื่อตรงแอบใช้สารเคมีในการปลูกผัก

อ.ซำสูง ถูกยกให้เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการอำเภอเกษตรพัฒนาเพื่อสร้างต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจรตามแผนยุทธศาสตร์ของ จ.ขอนแก่น ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) พาสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ไปเรียนรู้วิถีเกษตรในครั้งนี้

เกษตรประจัญ บอกเล่าที่มาก่อนจะมาเป็นอำเภอเกษตรพัฒนานำร่องว่า หลักการง่ายๆคือเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกับเรารวมถึงเชิญมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการเพื่อมากำหนดทิศทางของ อ.ซำสูง จนได้ข้อสรุปว่าจะทำอาหารปลอดภัยซึ่งอาหารจะปลอดภัยได้ก็ต้องเริ่มที่ผักปลอดภัยโดยมีจุดแข็งคือความสามัคคีทำอะไรต้องทำด้วยกัน มีแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เท่ากับเขื่อนอุบลรัตน์ที่เพียงเจาะลงไปในดินก็จะมีน้ำขึ้นมาโดยไม่ต้องสูบจะเห็นได้จากชื่อ “ซำ” ที่หมายถึง น้ำซับ น้ำซำออกมามาก ส่วนจุดอ่อนคือชาวบ้านยังขาดความรู้ใหม่ๆเพื่อที่จะเพิ่มพูนรายได้โดยจะมีระยะเวลาทำงานในไร่นาเฉลี่ยปีละ 4 เดือน ขณะเดียวกันซำสูงก็ยังเป็นอำเภอที่เล็กที่สุดของขอนแก่นทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย

เกษตรประจัญ บอกว่า ส่วนแรงงานในพื้นที่ก็จะเหลือเฉพาะแม่ใหญ่กับหลานน้อย ขณะที่โอกาสทางการค้าจะพบว่าซำสูงห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 35 กิโลเมตร มี 6 ตลาดที่ต้องการผักหลอดสารพิษและอยู่ใกล้ศูนย์กลางเทคโนโลยีข้อมูล และผู้สูงอายุชอบอยู่ที่ซำสูงเพราะอากาศดีเห็นได้จากต้นไม้ต้นเดียวมีผึ้งทำรังถึง 30-40 รัง จึงกล่าวได้ว่าที่นี่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชนสามารถหาอาหารจากป่ากินได้ตลอดปี

“พวกเราเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษปี 2551 ซึ่งครั้งแรกได้ร่วมกันปลูกผักคะน้า 50 แปลง โดยมีการใช้ปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ เศษอาหาร อ้อย มันสำปะรัง ยางพารา รกหมู ผลไม้สุกที่ทำใช้เองช่วยลดต้นทุนได้ถึง 200% เพราะถ้าใส่ปุ๋ยเคมีกระสอบละ 1,000 บาท แต่เราทำใช้เองและขายแค่ 300 บาทสำหรับคนที่ไม่ทำปุ๋ยหมักเอง ถ้าไม่อยากซื้อเราก็จะสอนให้”

เกษตรประจัญ เล่าต่อว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะหันมาปลูกผักปลอดสารพิษนั้นเป็นอาชีพเสริมนั้นตนเองก็ต้องโน้มน้าวใจโดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีที่จะได้รับจากการปลูกผัก เช่น ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซังคือเป็นหนี้ ธ.ก.ส.อย่างเดียว แต่ปลูกผักปลอดสารพิษสร้างรายได้ปีละ 100-200 ครั้ง เช่น ผักบุ้งปลูกไม่เกิน 20 วันก็สามารถเก็บขายได้แล้วแต่ปลูกข้าวสร้างรายได้แค่ปีละครั้ง และเมื่อพวกเราตัดสินใจที่จะปลูกผักปลอดสารพิษกันแล้วก็มีการตั้งชื่อแบรนด์โดยให้ผู้สูงวัยอายุ 80 ปีขึ้นไปมาเขียนคำว่า ซำสูง ขอนแก่น และกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนันช่วยกันลงคะแนนเลือกตัวหนังสือที่เหมาะสมที่สุดซึ่งมันเป็นการรับประกันว่าแม่ใหญ่เป็นคนเขียน ลูกหลานเป็นคนทำสืบทอดเจตนารมณ์ และมีการตั้งกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ที่จนถึงปัจจุบันนี้มีกำไรถึง 6.8 แสนบาท และชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

ขณะที่ ป้าพลอย กับ ลุงคูณ ศรีสงคราม สองสามีภรรยา บอกสั้นๆ ว่า เสียดายความแก่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ก็เลยเข้าร่วมช่วยกันปลูก 2 คนบนที่ทางอำเภอจัดหาที่ให้ร่วมกับคนอื่นๆ คนละล็อก และรับรองว่าผักที่นี่ปลอดภัย 100%

“ผักปลอดสารพิษของเรามีทั้งหมด 62 ชนิดที่ปลูกจากดินซำสูงซึ่งจะส่งได้อาทิตย์ละ 18 รายการและมีการติดขนาดผักมาตรฐานให้สมาชิกหรือคนทั่วไปที่สนใจได้ดู รวมถึงราคารับต่อกิโลกรัมโดยเราจะขายผักในนามสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษอำเภอซำสูง จำกัด ซึ่งก่อนนำไปขายก็จะต้องผ่านโรงคัดแยกจากนั้นจึงส่งให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เป็นหลักโดยผลผลิตที่ได้ตอนนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเราสามารถจัดส่งได้เพียงอาทิตย์ละครั้งๆ ละ 1,200 กิโลกรัม ขณะที่ทางห้างต้องการให้จัดส่งทุกวัน ส่วนในพื้นที่เราก็เปิดโอกาสให้สมาชิกนำผักไปขายตามแหล่งชุมชนต่างๆโดยมีเงื่อนไขคือห้ามนำไปขายทิ้งถ้าเจอถูกปรับ 2 เท่า ทั้งนี้ เรามีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 5.2 ตันต่อเดือน อย่างไรก็ตามที่สุดแล้ว เราเน้นความสามัคคี ผักปลอดภัยจากสารพิษจะไม่เกิดถ้าคนไม่สมัครสมานสามัคคี” เกษตรประจัญ กล่าวทิ้งท้าย





กำลังโหลดความคิดเห็น