xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มบัตรทองเสนอบอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิคลอดลูก-เลิกเก็บ 30 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ป่วย-รพ.ประสานเสียง เสนอบอร์ด สปสช. เพิ่มสิทธิคลอดลูก ตรวจสุขภาพประจำปี-การใช้ยาเท่าเทียมทุกสิทธิ รักษารากฟันทุกกลุ่มอายุ ยกเลิกเก็บ 30 บาท ปรับแนวทางจ่าย OP Refer หวังนำไปแก้ไขมากขึ้น “หมอจรัล” แนะใช้เทคโนโลยีช่วยรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

วันนี้ (11 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แกรนด์ ฮาวเวิร์ด กรุงเทพฯ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ กล่าวบรรยายเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นทั่วไป จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 18(13) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556” ในโครงการสัมมนาพัฒนาภาคีเครือข่ายเพื่อกำหนดรูปแบบการบริหารงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขาลง ปีงบประมาณ 2557 ว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และต้องจัดประชุมเพื่อให้บอร์ดรับฟังความคิดเห็นเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และการพัฒนาระบบหลักประกันฯ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.จรัล กล่าวอีกว่า นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามที่ พ.ร.บ.หลักประกันฯกำหนด ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างมาก จากประสบการณ์การรับฟังความคิดเห็นจึงคิดว่า ควรมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ โดยอาศัยเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้รับความคิดเห็นอย่างครบถ้วนและสมดุล คือ มีทั้งผู้ให้บริการ ซึ่ง 90% เป็นหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไปจนถึงโรงพยาบาลเอกชน และผู้รับบริการคือกลุ่มสิทธิบัตรทองจำนวน 48 ล้านคน โดยทำอย่างไรไม่ให้กลุ่มสิทธิข้าราชการหรือสิทธิประกันสังคมมาพูดหรือแสดงความคิดเห็นแทน

ผมได้เสนอบอร์ด สปสช.ว่า หากการรับฟังความคิดเห็นมีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับอนุกรรมการชุดใดก็ตาม ให้อนุฯชุดนั้นนำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาในระยะเวลา 2 เดือน แล้วนำกลับมาเสนอบอร์ดเพื่อให้ได้คำตอบในประเด็นนั้นๆ เพื่อที่ตนจะได้นำไปตอบคำถามแก่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ” นพ.จรัล กล่าวและว่า สำหรับปีนี้จากการรับฟังความคิดเห็นพบว่า มีข้อเสนอถึงอนุฯชุดต่างๆ ดังนี้ 1.อนุฯพัฒนาระบบการเงินการคลัง เช่น ควรตัดเงินเดือนระดับเขตหรือระดับประเทศ ปรับแนวทางการจ่าย OP Refer เป็นต้น

2.อนุฯพัฒนาสิทธิประโยชน์ เช่น ไม่จำกัดจำนวนครั้งการคลอดบุตร การตรวจสุขภาพประจำปีเท่าเทียมทุกสิทธิ การรักษารากฟันในทุกกลุ่มอายุ การเจาะน้ำคร่ำในครรภ์แรก ยกเลิกการเก็บ 30 บาท กรณีฉุกเฉิน 3 กองทุน รพ.เอกชนไม่รับผู้ป่วย หรือเรียกเก็บเงินสำรองก่อน เป็นต้น 3.คกก.ควบคุมคุณภาพมาตรฐานและอนุฯบริหารยุทธศาสตร์ เช่น พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยกลับหน่วยบริการต้นสังกัด การใช้ยาและเวชภัณฑ์มาตรฐานเดียวเท่าเทียมทุกสิทธิ เป็นต้น 4.อนุฯการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ เช่น ทบทวนโครงสร้างคกก.กองทุนฯ ปรับระเบียบการใช้เงินให้เปิดกว้าง เป็นต้น 5.อนุฯด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เช่น ประชาสัมพันธ์เรื่องการคุ้มครองสิทธิ และ 6.ข้อเสนอถึง สปสช.เช่น ช่วยผลักดันผลการรับฟังความคิดเห็นไปสู่การปฏิบัติให้มากขึ้น เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น