xs
xsm
sm
md
lg

ปฐมวัย ฐานรากแห่งการพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ประเทศจะพัฒนาในอนาคต ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชากรตัวน้อยทุกคน
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ในงาน “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้ระดมผู้รู้ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันถกเรื่อง “สานพลังสร้างปฐมวัยให้มีคุณภาพ” โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล รักษาการรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสร้างคุณภาพเด็กควรเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ปัจจุบันมีเพียง 5-10% ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แม้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่คลอดที่สถานพยาบาล ยังต้องเผชิญ 2 ปัญหาสำคัญคือ 1.ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งทางการแพทย์ระบุว่ากำลังเป็นภาระทางสุขภาพที่สำคัญในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีเด็กน้ำหนักเกินมากขึ้นเรื่อยๆ 2.การเติบโต เรียนรู้ ปลอดโรค ปลอดภัยของเด็ก ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าด้านวัคซีน แต่ยังมีเด็กด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึง เมื่อคลอดปลอดภัยแล้ว ก็เตรียมพร้อมเข้าสู่การดูแลของสถานเลี้ยงเด็ก ก่อนเข้าสู่รั้วโรงเรียน เพราะพ่อแม่ยุคใหม่ต้องทำงานนอกบ้าน หน้าที่ในการดูแลบุตรหลานจึงถูกส่งต่อไปยังครูพี่เลี้ยง

นายวีระชาติ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษานอกระบบและพัฒนากิจกรรมเยาวชน สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ปัจจุบันมีศูนย์เด็กเล็กในสังกัดกรมฯ รองรับเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่สถานเลี้ยงเด็กอื่นๆ 20,000 แห่งทั่วประเทศ ครู 52,000 คน ดูแลเด็กประมาณ 1 ล้านคน เพื่อกระตุ้นพัฒนาเด็ก ให้ได้รับการพัฒนาตามวัย ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

นางสุกัญญา เวชศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า แต่ละปีมีเด็กคลอดใหม่กว่า 4 ล้านคน เด็ก 1 ล้านคนเข้าศูนย์ดูแลเด็กเล็ก อีก 1 ล้านคนเข้าศูนย์พัฒนาเด็กของรัฐบาล ที่เหลืออีกประมาณ 2 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในการดูแลของสถานดูแลเด็กสังกัดใดๆ อยู่ในการดูแลของปู่ ย่า ตา ยาย การสร้างคุณภาพเด็กปฐมวัยจึงต้องมองให้ครบทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับครอบครัว ผู้ปกครองเด็ก และควรมีมาตรฐานกลางศูนย์ดูแลเด็ก เพราะปัจจุบันยังเป็นมาตรฐานเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน จึงร่วมกับ สสส.พัฒนาการทำงานด้านเด็กเชิงระบบ ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการของเด็กได้ทุกมิติ ทั้งการศึกษา อนามัย สิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.อุดมลักษณ์ กุลพิจิตร กรรมการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.กล่าวว่า เพราะการประเมินของ สมศ. ครอบคลุมทั้งด้านผู้บริหาร ด้านครู และด้านผู้เรียน ซึ่งการรับรองและประเมินคุณภาพ เป็นการตรวจสอบคุณภาพภายนอก จะช่วยผลักดันให้โรงเรียน รวมถึงสถานดูแลเด็กให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้เด็ก 2 ล้านกว่าคน ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ต่างๆ ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้าย เศร้าสลด ทั้งการลืมเด็กไว้ในรถ การทำร้ายร่างกายเด็ก เป็นต้น

เด็กไทยในวันนี้ล้วนมีศักยภาพในตัวเอง ขอเพียงผู้ใหญ่ให้การดูแลและส่งเสริมอย่างเหมาะสมและใส่ใจ เท่านี้ก็ประชากรตัวน้อยๆ ก็พร้อมจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้วัฒนาก้าวหน้าได้แน่นอน


นายวีระชาติ ทศรัตน์
นางสุกัญญา เวชศิลป์
รศ.ดร.อุดมลักษณ์ กุลพิจิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น