xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เสียงแข็ง! ไม่เพิ่มจำนวน นร.ต่อห้อง ยัน 50 คน ครูดูแลทั่วถึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชินภัทร” ยันไม่ขยายจำนวน นร.ต่อห้องตามเสียงเรียกร้องจากพ่อแม่ ย้ำ 50 คนต่อห้องเป็นจำนวนที่จะรักษาคุณภาพการศึกษาและครูดูแลเด็กได้ทั่วถึงแล้วทั้งยังเป็นกติกาที่ประกาศใช้กับ ร.ร.ในสังกัดทั่วประเทศ พร้อมเผยการรับนร.ปีนี้ในกทม.ไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ส่วน สพม.เขต 2 กทม.ที่เด็กล้นประมาณ 4 พันคนเกลี่ยแล้วกว่า 3 พันคน ระบุยังเหลือที่รองรับได้อีก 243 ขอเพียงเด็กที่ไม่มีที่เรียนติดต่อเข้ามา
ชินภัทร ภูมิรัตน
วันนี้ (11 เม.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงการดำเนินการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา (ม.) 1 และ ม.4 ประจำปีการศึกษา 2556 โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 และ 2 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แจ้งผลรายงานตัวของนักเรียนที่แจ้งความจำนงเพื่อให้ สพม.จัดหาที่เรียนให้หลังจากพลาดหวังจากการประกาศผลเข้าเรียนในรอบแรก โดย สพม.เขต 1 กทม.ได้จัดสรรที่เรียนให้กับนักเรียนเพิ่มเติม ได้แก่ ม.1 จำนวน 1,009 คน และ ม.4 จำนวน 514 คน

ในส่วน สพม.เขต 2 กทม.นั้น เดิมมีนักเรียนเกินอยู่ประมาณ 4,000 คนนั้นหลังจากวันจับสลากเข้าเรียนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ที่ผ่าน และขณะนี้ได้จัดสรรที่เรียนในระดับชั้นม.1 จำนวน 3,025 คน โดยกระจายไปยังโรงเรียนคู่พัฒนา โรงเรียนสหวิทยาเขตต่างๆ ส่วนนักเรียนที่เหลือนั้นไม่ได้มาแจ้งความจำนงไว้ แต่เชื่อว่าจะมีที่เรียนหมดแล้วเพราะยังมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนเอกชนที่เปิดรับและเด็กกลุ่มนี้อาจจะไปสมัครเข้าเรียนแล้ว ทั้งนี้ หากนักเรียนคนใดยังไม่มีที่เรียนก็ยังมีที่ว่างที่จะจัดสรรที่เรียนให้ได้อีก 243 คน เพียงแต่ต้องมาแจ้งที่ สพม.เขต 2 กทม.อย่างไรก็ตามในปีนี้สถานการณ์ของการรับนักเรียนในกรุงเทพมหานครไม่ได้มีปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมาและสามารถจัดสรรที่เรียนได้หมด

ขณะนี้มีกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนมาขอให้ สพฐ.เพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องจากที่กำหนดไว้ 50 คนต่อห้อง ซึ่งขอทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้าแล้วและเป็นไปตามมติของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ได้เห็นชอบแล้วและหลักเกณฑ์นี้ได้ประกาศใช้ทั่วประเทศ และการกำหนดนักเรียนต่อห้อง 50 คนเป็นจำนวนสูงสุดแล้วที่จะรักษาระดับคุณภาพการศึกษาได้และครูจะได้มีเวลาดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอสพฐ.ต้องการกระจายออกไปให้กว้างขวางไม่ใช่ คุณภาพกระจุกอยู่ในโรงเรียนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการกระจายนักเรียนออกไปจะทำให้มาตรการการพัฒนาคุณภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หากมีนักเรียนที่เกินกว่า 50 คนคุณภาพจะไม่ได้มาตรฐานแน่ โดยเรื่องนี้เป็นกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับกันและหากไปผ่อนผันที่ใดที่หนึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้” นายชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น