xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! บริษัทบุหรี่เติมแอมโมเนีย ทำนิโคตินซึมเข้าสมองไวขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
มูลนิธิไม่สูบบุหรี่จี้ ก.คลัง หยุด CSR ในโรงภาพยนตร์ตามมติ ครม. เผยมีฤทธิ์เสพติดกว่าเฮโรอีนและกัญชา พ้อรณรงค์เลิกบุหรี่ยากขึ้น เหตุบริษัทบุหรี่เติมแอมโมเนียระหว่างผลิต ทำให้นิโคตินถูกดูดซึคมเข้าสมองเร็วขึ้น

วันนี้ (22 พ.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้าพิเศษจึงควรควบคุม โดยเฉพาะการสื่อสารการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารการตลาดกลับรุกคืบ โดยโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในโรงภาพยนตร์ ทั้งที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2555 ให้ก.คลังดำเนินการห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรม CSR แต่ผ่านมา 1 ปียังไม่มีการดำเนินการตามมติครม. ล่าสุดเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ประกอบด้วยภาคีเครือข่าย 30 องค์กร อาทิ ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เตรียมทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการปฏิบัติตามมติครม. ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการนอกจากปัญหาข้อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า บุหรี่เป็นภัยร้ายไม่ต่างจากยาเสพติด แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดก.คลังยังไม่ดำเนินการควบคุมการทำ CSR ทั้งที่เป็นกลยุทธ์ในการบิดเบือนให้ประชาชนหลงเชื่อว่า บุหรี่ไม่ได้มีพิษร้าย จึงอยากให้กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยข้อมูลในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าเฮโรอีนในแต่ละช่วงวัย คือ อายุ 15-24 ปี มีฤทธิ์เสพติดสูงร้อยละ 25 ขณะที่เฮโรอีนมีฤทธิ์เสพติดร้อยละ20 ส่วนกัญชาและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เสพติดประมาณร้อยละ 19 ส่วนช่วงอายุ 25-34 ปีพบว่า บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าร้อยละ 35 ส่วนเฮโรอีนและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ร้อยละ19 ส่วนกัญชาร้อยละ 10 ขณะที่อายุระหว่าง 35-44 ปี บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดประมาณร้อยละ 35 เฮโรอีนออกฤทธิ์เสพติดไม่ต่างกันมากนัก ส่วนอายุ 45-54 ปี พบว่าบุหรี่ออกฤทธิ์เสพติดสูงเกือบร้อยละ 35 เช่นกัน สรุปคือบุหรี่ออกฤทธิ์เสพติดสูงสุดเมื่อเทียบกับเฮโรอีน กัญชา นอกจากนี้ จากการสแกนสมองโดยเครื่องตรวจคอมพิวเตอร์สมอง แสดงให้เห็นถึงภาพสมองที่เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้าเข้ม จากการที่สารนิโคตีนในควันบุหรี่เข้าไปจับกับเซลล์สมอง โดยยิ่งสูบมากครั้ง สีสมองจะยิ่งเข้มขึ้น ซึ่งหากสูบ 3 มวนจะพบว่าสีเข้มทั่วไปหมด

"อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การรณรงค์ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ยากขึ้น เพราะอำนาจการเสพติดที่รุนแรงของบุหรี่ กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ที่เพิ่มอำนาจการเสพติดของบุหรี่ โดยการเติมสารแอมโมเนียในขบวนการผลิต จะทำให้นิโคตินถูกดูดซึมเข้าสมองเร็วขึ้น มีผลทำให้ฤทธิ์เสพติดเพิ่มขึ้น" เลขาธิการฯ กล่าวและว่า ที่น่ากังวลคือข้อมูลเมื่อปี 2552 พบว่าประชากรที่เสพติดบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคนมีฐานะยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ยคนละ 2,094 บาทต่อเดือน แต่ใช้เงินไปในการซื้อบุหรี่เฉลี่ย 450 บาทต่อเดือน


 
กำลังโหลดความคิดเห็น