รอบหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏชัดเจนว่ามีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเดินหน้าโครงการจำพวกรณรงค์งดสูบบุหรี่ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสิงห์อมควันรุ่นเก๋า ทั้งยังเป็นเรื่องท้าทายต้องคอยสกัดสิงห์อมควันหน้าใหม่ๆ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนทัศนคติแก่คนรุ่นใหม่ให้ห่างไกลบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ถึงผลจากการขับเคลื่อนงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ของ สสส. ว่าในสังคมไทยกว่า 25 (ปีพ.ศ.2529-2554) ปรากฎผลสำเร็จอย่างชัดเจนและน่าพอใจโดยปี พ.ศ.2534 มีผู้สูบบุหรี่ 12.26 ล้านคน จากประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป 38.3 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 32 ส่วนปี พ.ศ.2554 มีผู้สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน จากประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป 53.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21.4
เมื่อคิดจำนวนผู้สูบบุหรี่พบว่า ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น 5.7 ล้านคน โดยเมื่อแบ่งจำนวนผู้สูบบุหรี่ตามเพศ พบว่า เพศชาย ร้อยละ 59.3 ในปี พ.ศ. 2534 ลดเหลือร้อยละ 40.7 ในปี พ.ศ.2554 ส่วนเพศหญิง จากร้อยละ 4.9 ลดเหลือร้อยละ 2.1
และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในปีพ.ศ.2544 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 25.47 เหลือร้อยละ 21.4 ในปี พ.ศ.2554 สอดคล้องกับอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านลดลง โดยในปี พ.ศ.2550 คนไทยที่สูบบุหรี่ในบ้านร้อยละ 58 ลดลงจากที่เคยสูบ ร้อยละ 85 ในปี พ.ศ.2544 นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะจากการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ 100% ด้วย
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2552 มีคนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วราว 6.3 ล้านคน ซึ่งหากคำนวณตามสถิติจะพบว่า คนที่สูบบุหรี่ต่อโดยไม่หยุด 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่ง จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนไทยที่รอดพ้นจากการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้ถึง 2.1 ถึง 3.15 ล้านคน ด้านนโยบายการขึ้นภาษียาสูบตามการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ ทำให้ช่วงปี 2535-2555 มีการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรต 10 ครั้ง เฉลี่ยมีการขึ้นภาษีทุก 2 ปี ทำให้รัฐบาลเก็บภาษียาสูบได้เพิ่มขึ้นจาก 15,438 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2536 เป็น 59,914 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2555
สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการทางภาษีเป็นมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ได้ผลเป็นอย่างดี แต่ต้องทำควบคู่กับการให้ความรู้ และรณรงค์ทางสังคมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำนวนบุหรี่ที่สูบในช่วง ปีพ.ศ.2533-2555 มียอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตคงที่อยู่ที่เฉลี่ยราวปีละ 2 พันล้านซองโดยยอดจำหน่าย พ.ศ.2533 - 2536 เท่ากับ 2,000 ล้านซองต่อปี เปรียบเทียบยอดจำหน่าย พ.ศ.2537-2544 เท่ากับ 2,100 ล้านซองต่อปีและภายหลังการจัดตั้ง สสส.ระหว่าง พ.ศ.2545-2555 เท่ากับ1,933 ล้านซองต่อปี
ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)