xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ฟุ้ง WHO ให้ไทยแสดงผลงานธรรมาภิบาลระบบสุขภาพ เพราะทำได้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ไทยเสนอใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือพัฒนาสุขภาพโลกในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ฟุ้ง WHO ให้ไทยแสดงผลงานด้านธรรมาภิบาลระบบสุขภาพ เพราะเห็นทำเรื่องนี้ได้ดี

วันนี้ (20 พ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 66 ประจำปี 2556 ซึ่งมีรัฐมนตรีสาธารณสุขจาก 194 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการสาธารณสุขประมาณ 2,000 คน ร่วมประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ในการประชุมฯ ได้นำเสนอทิศทางของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน ในประเด็นเรื่อง การสร้างความมั่นใจในการพัฒนาสุขภาพประชากรโลก ตามแผนพัฒนาสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติช่วงที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในปี 2558 เป็นต้นไป ต่อเนื่องจากช่วงที่ 1 ที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2543 และจะครบกำหนดในปี 2558 ที่จะถึงนี้ สำหรับไทยได้เสนอให้นำระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโลกในด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของระบบสุขภาพ ให้สามารถจัดการปัญหาของโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางทุกโรค ทั้งเรื่องที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาสหัสวรรษ เช่น ปัญหาเด็กน้ำหนักตัวน้อย เอชไอวี มาลาเรีย วัณโรค อนามัยเจริญพันธุ์ และที่ไม่อยู่ในเป้าหมาย อีกทั้งธรรมาภิบาลในระบบยา รวมทั้งการต่อต้านคอร์รัปชัน จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เห็นว่าไทยสามารถทำเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี จึงเชิญให้ไทยได้แสดงผลงานการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลระบบสุขภาพ

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านการสาธารณสุข เป็นเรื่องที่สำคัญและควรอยู่ในวาระหลักแห่งการพัฒนาในปี 2558 เพื่อทำให้ประชากรมีชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างถ้วนทั่ว โดยให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายของพัฒนาการสาธารณสุข ซึ่งจะสร้างความเท่าเทียมกันให้ประชาชนเข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วยรวมถึงการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน โดยการดำเนินการเรื่องนี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดัน เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต และจะมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อไป

ทั้งนี้ ในกรณีการรวมตัวในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 แม้เศรษฐกิจจะเป็นวัตถุประสงค์หลักของการรวมตัว แต่เรื่องสาธารณสุขก็เป็นส่วนสำคัญของการรวมตัวครั้งนี้ เนื่องจากความร่วมมือด้านการพัฒนาการสาธารณสุขระหว่างประเทศสมาชิก จะทำให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคม นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะหากประชากรอาเซียนมีสุขภาพดี จะมีผลต่อการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชากรหลุดพ้นจากความยากจนและมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งผลดำเนินงานของสมาชิกประเทศในอาเซียน แม้ว่าจะบรรลุผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เช่น การลดอัตราการตายของแม่และเด็ก แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อเนื่อง เช่น โรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์ โรคมาลาเรีย การตายของมารดาและทารก ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดการติดเชื้อเอชไอวีและการตายจากโรคเอดส์ให้เป็นศูนย์

ด้าน นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาพระดับโลกที่ผ่านมา จากประชากรโลกที่มีประมาณ 6,000 ล้านคน พบว่ามีคนจนจำนวน 1,000 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ โดยมีประชาชน 150 ล้านคนประสบภาวะล้มละลายทางการเงินที่เกิดจากค่ารักษาพยาบาลกลายเป็นคนจน สำหรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ องค์การสหประชาชาติได้เร่งแก้ไขปัญหาระดับโลกใน 8 เรื่องใหญ่ เช่น การขจัดความยากจนและความหิวโหย การพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ระหว่าง พ.ศ.2543-2558 โดยเกี่ยวข้องกับสุขภาพ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.เด็กน้ำหนักตัวน้อย 2.สุขภาพเด็ก 3.สุขภาพหญิงตั้งครรภ์และอนามัยเจริญพันธุ์ 4.การควบคุมป้องกันโรคเอดส์ 5.การควบคุมโรควัณโรค 6.โรคมาลาเรีย ซึ่งประเทศไทยดำเนินการได้ตามเป้า และมั่นใจว่าการลงทุนสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน จะเป็นปัจจัยเร่งให้เห็นความสำเร็จของการพัฒนาได้เร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น