xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : กินอย่างมีสติ ป้องกันโรคอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก ปี 2008 มีประชากรโลกอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักเกิน อยู่ถึง 1,400 ล้านคน คนที่เข้าข่ายโรคอ้วน เป็นชายมากกว่า 200 ล้านคน และหญิงมากกว่า 300 ล้านคน ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ในปี 2010 เป็นโรคอ้วนอยู่ 40 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น

ในทางการแพทย์ เราใช้ค่าดัชนีมวลกายเป็นเครื่องวัด โดยเอาน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมตั้ง หารด้วยความสูงเป็นเมตร ยกกำลังสอง ถ้ามีค่าเกิน 25จะถือว่า น้ำหนักเกิน แต่ยังไม่เป็นโรคอ้วน แต่ถ้าค่าออกมามากกว่า 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน

โรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุการตายร้อยละ 80 ของคนในโลกปัจจุบัน ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแลรักษา ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลก มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างมาก ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงมีโครงการรณรงค์เพื่อลดโรคอ้วนในประเทศต่างๆ อย่างเร่งด่วน

โรคอ้วนเกิดจากสาเหตุหลักๆ 2 ประการ คือ การกินอาหารมากเกิน และการขาดการออกกำลังกาย นอกนั้นจำนวนน้อยที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ และสมอง

ในด้านการรักษา แพทย์มักจะแนะนำให้คนไข้คุมอาหารและออกกำลังกายด้วยตนเองก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ผล

การใช้ยาลดน้ำหนักจะได้ผลดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวน้ำหนักจะกลับมาเหมือนเดิมอีก นอกจากนั้น ยายังมีผลข้างเคียงมาก ราคาแพง เพราะนำเข้าจากต่างประเทศ บางรายกินยาเกินขนาดอาจถึงแก่ชีวิตได้ บางรายที่อ้วนมากๆ แพทย์อาจจะพิจารณาผ่าตัดลำไส้ เพื่อลดความยาวลำไส้ลง ทำให้การดูดซึมสารอาหารน้อยลง

สำหรับเรื่องการกินนั้น นักวิชาการได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภค เช่น งานของศาสตราจารย์ ไบรอัน แวนซิงค์ (Brian Wansink) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล นิวยอร์ค ซึ่งทดลองให้ผู้ที่เข้าชมภาพยนตร์ 2 กลุ่ม รับประทานข้าวโพดคั่ว โดยกลุ่มที่ 1 ให้ถุงขนาดใหญ่ กลุ่มที่ 2 ให้ขนาดใหญ่สุด หลังชมภาพยนตร์ จึงทำการตรวจสอบ และพบว่า คนที่ได้ถุงข้าวโพดใหญ่สุด จะบริโภคมากกว่ากลุ่มที่ได้ถุงขนาดใหญ่ ร้อยละ 53 เขากล่าวว่า การกินอาหารโดยขาดสติไม่รู้ตัว กินตามความเคยชิน กินตามความพอใจ เป็นเหตุให้เรากินอาหารมากเกินไป

เขาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ กินอย่างขาดสติ (Mindless Eating) ว่า ถ้าเราคำนึงถึงเรื่องการกิน และวิธีกิน จะทำให้เรากินน้อยลง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการให้ความสนใจกันมาก และได้ทำการศึกษาเรื่องของการกินอย่างมีสติ

ดร.ลิเลี่ยน ชุง (Lilian Cheung,Ph.D) นักโภชนาการ แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด สหรัฐอเมริกา ได้เขียนถึงวิธีการกินอย่างมีสติ ไว้ในหนังสือ ชื่อ Savor : Mindful Eating, Mindful Life ซึ่งเธอเขียนร่วมกับท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ภิกษุชื่อดังชาวเวียดนาม แห่งหมู่บ้านพลัม ในฝรั่งเศส ซึ่งเธอเป็นลูกศิษย์ของท่าน

ดร.ชุงกล่าวว่า “การที่เรามีสติในการกิน จะทำให้เรากินอาหารได้ถูกต้อง และไม่มากเกินไป เวลานี้อุตสาหกรรมอาหารพัฒนาไปมาก หีบห่อมีขนาดใหญ่ขึ้น ชีวิตของคนเร่งรีบมากขึ้น ทำให้เรากินอาหารเร็วขึ้น มีเวลากินน้อยลง ซึ่งทำให้เราอ้วนขึ้นด้วย ดังนั้น เราจึงต้องมาฝึกการกินอย่างมีสติ”

เธอได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องกินอย่างมีสติ ที่สถานปฏิบัติธรรมตามแนวของหมู่บ้านพลัม ที่นิวยอร์ค

ในหลักสูตรของเธอ เริ่มด้วยการสวดมนต์ นำจานอาหารมาวางไว้ข้างหน้า เริ่มพิจารณา รูปร่าง สี กลิ่นของอาหาร อย่างมีสติ กินเพื่ออยู่ ไม่ติดในรสชาติของอาหาร ค่อยๆตักอาหารเข้าปาก อมไว้ กำหนดรู้รสและกลิ่นของอาหาร ค่อยๆเคี้ยวทีละคำ ดูการเคลื่อนไหวของกราม รับรู้ความเคลื่อนไหวของอาหารและน้ำลายในปาก เคี้ยวช้าๆ จนหมด แล้วกลืน ค่อยๆดูอาหารเคลื่อนลงในกระเพาะ กินอาหารช้าๆจนหมด

ผู้เข้าอบรมมักจะบอกว่า ไม่เคยกินอาหารช้าแบบนี้มาก่อนเลย แต่ก็ทำให้ได้เห็นรายละเอียดต่างๆในขบวนการกิน ซึ่งทำให้เกิดความระมัดระวังและรู้ตัวตลอดเวลากินอาหาร และทำให้ใจสงบลง

หลัก 7 ประการในการกินอย่างมีสติ

ดร.ชุง กล่าวถึงหลัก 7 ประการในการกินอย่างมีสติ ดังนี้

1. ให้รู้สึกขอบคุณอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งจะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้

2. รับรู้ถึงคุณลักษณะของอาหาร รูปร่าง สี กลิ่น และรสชาติของอาหารซึ่งเราสัมผัสได้จาก ตา จมูก ลิ้น อย่างมีสติ เพื่อไม่ให้เราติดยึดในรสชาติของอาหาร

3. ให้คำนึงถึงขนาดของภาชนะที่ใส่อาหาร ให้รับประทานในภาชนะขนาดเล็กลง ซึ่งงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การกินอาหารในจานขนาดเล็ก จะกินได้น้อยกว่า และอิ่มเร็วขึ้น

4. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด

5. เคี้ยวอย่างช้าๆ

6. อย่างดอาหารบางมื้อ เพราะมัวยุ่งอยู่กับงาน

7. ให้คำนึงถึงอาหารที่รับประทาน ควรจะเป็นอาหารที่มีพืช ผักผลไม้ เป็นหลัก ส่วนไขมัน เนื้อสัตว์ และของหวานน้อยลง จึงจะทำให้เรามีสุขภาพดี

ดร. ลิเลี่ยน ชุง เป็นผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ หน่วยโภชนาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด เธอทำงานโดยการให้ข้อมูลทางโภชนาการผ่านสื่อต่างๆ ทั้งเว็บไซด์ หนังสือ โทรทัศน์

เธอเป็นลูกศิษย์ของท่านติช นัท ฮันห์ และปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหมู่บ้านพลัมมานานกว่า 10 ปี เธอจัดให้มีการฝึกเจริญสติให้กับบุคลากรของคณะสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ในเรื่องการกิน การอยู่ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ และจัดโปรแกรมสอนให้กับเด็กนักเรียนและประชาชนทั่วไป เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ที่กำลังคุกคามชีวิตของคนในโลกปัจจุบัน


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ท่านติช นัท ฮันห์

ดร.ลิเลี่ยน ชุง

ใครจะแก้ปัญหา “นักบิน” ป่วนเส้นทาง “ส่วย” บ่อดิน-ทรายที่สงขลา?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก
ใครจะแก้ปัญหา “นักบิน” ป่วนเส้นทาง “ส่วย” บ่อดิน-ทรายที่สงขลา?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะจบลงอย่างไรไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญที่นำเรื่องนี้มาเขียนถึง เพียงเพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับส่วยในท้องที่ ทั้งฝ่ายปกครอง และตำรวจ ได้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคงจะไม่ยากถ้านายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และ พล.ต.ท.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ผบช.ภ.9 จะลงมาสะสางเรื่องอื้อฉาวด้วยตนเอง แต่ถ้ายังมีการเพิกเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าฝ่ายปกครอง และตำรวจ ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ ล้วนแต่ “พึ่งพา” ผลประโยชน์จากส่วยของนายทุนผู้เป็นเจ้าของกิจการผิดกฎหมายด้วยกันนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น