xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะแก้ปัญหา “นักบิน” ป่วนเส้นทาง “ส่วย” บ่อดิน-ทรายที่สงขลา?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
หิน ดิน ทราย คือวัสดุที่จำเป็นในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเฉพาะในภาคใต้ในหลายจังหวัดที่การก่อสร้างสาธารณูประโยชน์ ทั้งภาครัฐ และเอกชนเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นที่ จ.สงขลา ซึ่งมีการก่อสร้างทั้งสถานที่ราชการ บ้านเรือน คอนโดมิเนียมที่ผุดโผล่เป็นดอกเห็ด เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน และต้อนรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามาโดยตลอดในการทำกิจการเหมืองหิน บ่อทราย และบ่อดิน ซึ่งเป็นหัวใจของการก่อสร้างทุกชนิด นั่นคือ กิจการประเภทนี้มักจะไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมาย มีการควบคุมโดยการออกระเบียบข้อกฎหมายอย่างเข้มงวด มีหลายกระทรวงและหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลความถูกต้อง ดังนั้น จึงพบว่ากิจการเหมืองหิน บ่อทราย และบ่อดินลูกรังมักจะไม่ค่อยมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น บ่อดินลูกรังส่วนใหญ่จะเป็นบ่อที่อนุญาตไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะบ่อทรายส่วนใหญ่เป็นการดูดทรายเถื่อน ทั้งจากแม่น้ำลำคลอง และจากที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ แต่ไม่มีใบอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัด หลายแห่งมีใบอนุญาต แต่จำนวนแรงม้าของเครื่องยนต์ไม่ได้ตามขนาดที่ขออนุญาต รวมทั้งรถบรรทุกหิน ดิน ทราย ล้วนแต่แบกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
 
สิ่งที่ติดตามมาคือ กิจการทั้งหมดที่กล่าวถึงจึงกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ทั้งในพื้นที่ที่กิจการเหล่านั้นตั้งอยู่ และเจ้าหน้าที่จาก “ส่วนกลาง” ซึ่งถูกขนาดนามว่า “นักบิน” ที่บินมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกิจการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
เช่นที่ จ.สงขลา ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นที่ อ.รัตภูมิ และ อ.เทพา สำหรับ อ.รัตภูมิ เป็นแหล่งที่มีการทำกิจการบ่อทรายเป็นจำนวนมากถึง 24 แห่ง แต่มีที่ขออนุญาตถูกต้องเพียง 2 แห่ง นอกนั้นอีก 22 แห่ง เป็นการดูดทรายเถื่อน ซึ่งเจ้าของกิจการมีทั้งนายทุนในพื้นที่ นายทุนนอกพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ อย่าง “นักปกครองระดับ 9” และตำรวจระดับ “พ.ต.อ.” ก็เป็นเจ้าของกิจการกับเขาด้วย ส่วนที่ อ.เทพา มีไม่ถึง 10 แห่ง และที่อำเภออื่นๆ ก็มีอีกไม่กี่แห่ง แต่ล้วนมีปัญหา และมีเรื่องอื้อฉาวเช่นเดียวกัน
 
ที่ผ่านมา บ่อทราย และบ่อดินลูกรังทั้งหมดซึ่งเป็นบ่อเถื่อนต้องจ่าย “ส่วย” ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เป็นรายเดือน เพื่อที่จะดำเนินกิจการได้โดยไม่ถูกตรวจค้น จับกุม โดยที่ อ.รัตภูมิ มีการจ่ายให้ “ตำรวจ” บ่อละ 4.,000 บาทต่อเดือน และจ่ายให้ “อำเภอ” บ่อละ 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนหน่วยอื่นๆ ที่ต้องจ่ายคือ “ตำรวจทางหลวง” เพราะรถบรรทุกทั้งหมดที่เข้า-ออกบ่อดิน และบ่อทรายล้วนแต่ทำผิดกฎหมาย ทั้งบรรทุกน้ำหนักเกิน และทำดินทรายหกเรี่ยราดบนถนน
 
สำหรับการจ่ายให้ “ตำรวจ” นั้น มีเจ้าของบ่อทรายชื่อ “ใหญ่” เป็นผู้เก็บจากเจ้าของกิจการ โดยอ้างว่าเก็บส่ง “โรงพัก” ส่วนฝ่ายปกครองนั้น มี “อส.” ทำหน้าที่เก็บ และอ้างว่าเป็นการเก็บให้ “อำเภอ”
 
ที่ผ่านมา กิจการเถื่อนไม่ค่อยเดือดร้อน เพราะจ่ายไม่มาก และตลาดต้องการวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก ทว่า นับแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าของกิจการ ทั้งที่มีใบอนุญาตและที่เป็นกิจการเถื่อน ต่างได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้าในทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะที่ จ.สงขลา เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่จาก “ส่วนกลาง” หรือ “นักบิน” ทั้งที่อ้างว่ามาจาก “กองปราบ” และจากส่วนอื่นๆ รวมทั้งที่อ้างว่ามาจาก “บช.ภ.9”  ต่างบินโฉบลงที่บ่อทรายและบ่อดินเพื่อขอตั้ง “รายการ” หรือขอให้มีการจ่ายส่วยเป็นรายเดือนให้แก่ตนเอง โดยอ้างว่าเป็นการส่งให้ “นาย” ทำให้เจ้าของกิจการบ่อทราย บ่อดิน ทนกับพฤติกรรมของเหล่านักบินไม่ไหว เพราะ “เม็ดเงิน” ที่เหล่านักบินเสนอมาเป็นตัวเลขกว่า 5 หลักต่อเดือน
 
เจ้าของกิจการบ่อทราย-บ่อดิน ใน จ.สงขลา ได้มีการหารือกัน ก่อนที่จะส่งตัวแทนซึ่งเป็นอดีต “รอง ผกก.ป.” ผู้หนึ่งไปเจรจากับ พล.ต.ต.สุวิทย์ เชิญศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา ให้ทราบถึงเรื่องที่นักบินได้บินข้ามเขตเข้ามาเก็บส่วย ซึ่งปกติต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ให้หาทางหยุดเหล่านักบินจากส่วนกลาง และจาก บช.ภ.9 โดยเจ้าของกิจการพร้อมที่จะจ่ายต่อ โดยจ่ายให้ “ท้องที่” เพียงอย่างเดียว และหากยังมีนักบินข้ามเขตมารบกวนอย่างที่เป็นอยู่ บ่อทราย และบ่อดินจะหยุดกิจการเพื่อตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากกิจการเหล่านี้หยุด ความเดือดร้อนจะตกเป็นของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งภาครัฐ และเอกชนทันที
 
เรื่องที่เกิดขึ้นใน จ.สงขลา คือตัวอย่างที่เห็นชัดเจนถึงการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ จากกิจการ หรือธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หรือที่ “หมิ่นเหม่” กับกฎหมาย ที่เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่ และจากส่วนอื่นๆ ที่เข้ามา “ตักตวง” ผลประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมให้เจ้าของกิจการทำผิดกฎหมายโดยไม่มีการจับกุม
 
นอกจากนี้ยังเห็นชัดเจนถึงอีกหลายหน่วยงาน ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ที่ไม่พยายามดำเนินการให้กิจการเหล่านี้ได้มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ทั้งที่สามารถที่จะทำได้ หาก “นายทุน” เจ้าของกิจการต้องการทำ และหากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้นายทุนทำ แต่ที่กิจการเหล่านี้ไม่พยายามทำให้ถูกต้อง เพราะยังมี “ช่องทาง” ในการดำเนินการได้ นั่นคือการจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่เองส่วนหนึ่งก็ต้องการรับส่วยจากนายทุน ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ก้อนนี้ไว้ จึงต้องทำให้กิจการเหล่านี้เป็นกิจการเถื่อนต่อไป
 
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะจบลงอย่างไรไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญที่นำเรื่องนี้มาเขียนถึง เพียงเพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับส่วยในท้องที่ ทั้งฝ่ายปกครอง และตำรวจ ได้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคงจะไม่ยากถ้า นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และ พล.ต.ท.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ผบช.ภ.9 จะลงมาสะสางเรื่องอื้อฉาวด้วยตนเอง แต่ถ้ายังมีการเพิกเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ ล้วนแต่ “พึ่งพา” ผลประโยชน์จากส่วยของนายทุนผู้เป็นเจ้าของกิจการผิดกฎหมายด้วยกันนั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น