ผู้เชี่ยวชาญปลาโมโหเรื่องเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ขนทรายถมน้ำตก ชี้แหล่งอาศัยของปลาถูกทำลาย แล้วยังพบประชาชนใช้สบู่-แชมพูในน้ำตก ทั้งที่เป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อปลา และไม่สมควรอนุญาตให้ใช้ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ แนะทบทวนและยกเลิกโครงการ เพราะหน้าที่กรมอุทยานฯ ไม่ใช่การบริการนักท่องเที่ยว
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ จากกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา เขียนจดหมายเหตุถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด รวมถึงประชาชนทุกคน ในเรื่องปรากฏการณ์หาดทรายใต้น้ำตก ณ เทือกเขาบรรทัด ซึ่งเขาเปิดใจแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงเรืองดังกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าโมโห
ทั้งนี้ เขาได้ไปเที่ยวและทำธุระที่ จ.พัทลุงเมื่อ 7 เม.ย.56 ที่ผ่านมา และหลังจากเสร็จธุระแล้วได้เที่ยวน้ำตกแห่งหนึ่งตามคำชวนของเพื่อนที่ชื่นชอบสัตว์จำพวกปลาเหมือนกัน แต่กลับพบว่าสายธารที่ไหลจากน้ำตกนั้นขุ่น ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากลำธารอื่นในช่วงฤดูแล้งยังคงใสสะอาด
น้ำตกดังกล่าวคือน้ำตกไพรวัลย์ ซึ่งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา และเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่ง ดร.นณณ์พบว่ามีคนไปเยือนน้ำตกแห่งนี้จำนวนมากผิดปกติ และยังพบสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในเขตอนุรักษ์พันธุ์ ดังนี้
“ทันทีที่เดินไปถึงลำธาร ซึ่งคนเยอะมาก (เรื่องทำไมคนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้เยอะแยะ ทั้งๆ ที่หลายๆแห่งต้องขออนุญาตกันเป็นเรื่องเป็นราวคงไม่ขอพูดถึง) เราได้กลิ่นแชมพูและสบู่ฟุ้งไปทั่ว ไปเล่นน้ำที่น้ำตก ทำไมต้องถูสบู่ สระผม ผมไม่เข้าใจ พวกนี้เป็นสารเคมี มีสารลดแรงตึงผิว ซึ่งเป็นพิษกับปลา ไม่ควรอนุญาตให้เอาลงไปใช้ในลำธารในเขตอนุรักษ์เลย” ดร.นณณ์ระบุข้อสังเกตแรกในจดหมายเหตุ
ข้อสังเกตที่สองคือพื้นที่หินก้อนใหญ่ๆ และซอกหลืบที่ปกติเป็นที่อยู่ของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ กลายเป็น “หาดทราย” ซึ่งพบว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ฯ และยังเห็นการการดูดทรายเนื่องจากนำทรายจากที่อื่นมาถมเป็นหาดให้นักท่องเที่ยวเยอะเกิน จึงดูดออกเพื่อนำไปถมที่ลานกางเต็นท์บริเวณข้างๆ
“ผม งง เสียใจ และ โกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเปิดเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ ไม่เห็นมีตรงไหนบอกว่าพันธกิจของ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” คือการปรับปรุงสถานที่ให้นักท่องเที่ยว ผมเข้าใจมาตลอดว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีไว้เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า แน่นอนว่าจะอนุรักษ์ไว้ทำไมถ้าไม่มีการใช้ประโยชน์ จะปล่อยให้เข้าไปเที่ยวบ้างก็ไม่ว่ากัน (ผมก็อยากไป) แต่ไม่ใช่มีการพัฒนาพื้นที่แบบไม่เข้าใจธรรมชาติเพื่ออำนวยความสะดวกให้นัก ท่องเที่ยวแบบโครงการนี้ ซึ่งผมมองว่าไม่สมควร” ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมระบุในจดหมายเหตุ
ทั้งนี้ ดร.นณณ์ได้แสดงความเห็นไว้ 3 ข้อ ดังนี้
1.ด้วยความเคารพหัวหน้าเขตฯ ผมมั่นใจว่าท่านมีความรู้ความสามารถทางด้านการจัดการป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างดี และคงหวังดีอยากอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แต่การนำทรายไปถมพื้นที่ตีนน้ำตกเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของปลาลำธาร ซึ่งต้องการแหล่งอาศัยเฉพาะ และลำธารในส่วนที่น้ำไหลแรงในเขตภาคใต้ก็มีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเป็นลำธารสายสั้นและพื้นที่ราบ พอตกลงมาได้ไม่เท่าไหร่ก็ไหลเป็นลำธารที่ราบแล้ว จะไม่ค่อยมีแก่งให้กลุ่มปลาน้ำไหลอาศัยอยู่ การถมทรายคือการถมบ้านของปลากลุ่มนี้ ซึ่งเพื่อนผมเคยพบปลาบางสกุลถึง 3 ชนิดบางชนิดเป็นปลาที่พบเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถือว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ควรอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
2.การนำทรายมาถม ไม่มีทางอยู่ได้อย่างถาวรเนื่องจากพอฤดูน้ำหลากทรายก็จะถูกพัดไหลออกไป เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและทำให้ลำธารด้านล่างต้องรับทรายเพิ่มเติม ก่อให้เกิดการตื้นเขิน ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมต่อไปได้
3.ผมเชื่อว่าแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งควรจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป และการไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ควรได้สัมผัสกับ “ธรรมชาติ” อย่างแท้จริง มิใช่เล่นหาดทรายที่น้ำตก
ข้าพเจ้ามั่นใจว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความหวังดี แต่เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอความกรุณาให้ท่านทบทวนนโยบายการจัดการพื้นที่และคืนบ้านให้กับปลาลำธารในบริเวณดังกล่าวต่อไป
อ่านบทความต้นฉบับ
จดหมายเหตุ: ปรากฏการณ์หาดทรายใต้น้ำตก ณ เทือกเขาบรรทัด