xs
xsm
sm
md
lg

“แม่มูล” บุรีรัมย์แห้งสุดรอบ 40 ปี กระทบอาชีพหาปลา หนีขายแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่น้ำมูล อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ตื้นเขินวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลกระทบปชช.หลายหมู่บ้านที่มีอาชีพหาปลาบริโภคและส่งขายสร้างรายได้เสริม ต้องอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น วันนี้ ( 18 ก.พ.)
บุรีรัมย์ - แม่น้ำมูล อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ตื้นเขินวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลกระทบ ปชช.หลายหมู่บ้านที่มีอาชีพหาปลาบริโภค และส่งขายสร้างรายได้เสริม เผยปลาธรรมชาติหดหาย ซ้ำเหลือแต่ตัวเล็ก เคยจับได้วันละกว่า 10 กก. เหลือไม่ถึงกิโลฯ หลายครัวเรือนต้องอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่นเพื่อเลี้ยงชีพ

วันนี้ (18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำมูลเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภาคอีสานในช่วงไหลผ่านเขตพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว บางจุดมีสภาพตื้นเขินและแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและเกษตรกรหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านหนองบัว ต.สตึก อ.สตึก กว่า 20 ครัวเรือนที่ยึดอาชีพออกพาเรือหาปลาตามลำน้ำมูลเพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือน และนำไปขายตามท้องตลาดเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวหลังฤดูเก็บเกี่ยว

แต่ปีนี้กลับไม่สามารถหาปลาได้เหมือนทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากระดับน้ำที่ตื้นเขินลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัตว์น้ำและปลาธรรมชาติมีปริมาณลดลง จากปกติทุกปีที่ผ่านมาหาปลาได้ถึงวันละกว่า 10 กิโลกรัม (กก.) แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึงวันละ 1 กก. ซ้ำยังเหลือเพียงปลาขนาดเล็ก ส่วนปลาตัวขนาดใหญ่แทบไม่มี ผลกระทบดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนต้องพากันอพยพไปทำงานรับจ้าง และขายแรงงานต่างถิ่นทั้งในกรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว

นายสุรี บุญหลัง อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ้านหนองบัว อ.สตึก กล่าวว่า ปีนี้น้ำในลำน้ำมูลแห้งวิกฤตที่สุดในรอบกว่า 40 ปี เพราะตั้งแต่เกิดมาจนถึงขณะนี้ตนไม่เคยเห็นน้ำมูลลดต่ำมากขนาดนี้ เชื่อว่าสาเหตุน่าจะมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ประกอบกับมีนายทุนบางกลุ่มฉวยโอกาสหาประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการลักลอบดูดทราย และลุกล้ำเข้าไปทำประโยชน์ในลำน้ำมูล จนทำให้มีสภาพตื้นเขินและกระทบต่อการเพาะขยายพันธุ์ของปลาธรรมชาติ ส่งผลให้มีปริมาณลดลง

“จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านโดยการขุดลอก หรือสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ตลอดทั้งปี ก่อนที่อาชีพหาปลาของชาวบ้านจะสูญหายไป” นายสุรีกล่าว
จับปลาได้น้อย ซ้ำตัวขนาดเล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น