xs
xsm
sm
md
lg

อาเบะ‘เงิบ’หวังกระชับสัมพันธ์แต่กลับทำให้เกาหลีใต้‘ยัวะ’

เผยแพร่:   โดย: ดาเนียล เลอุสซิงก์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Abe touches a raw nerve in South Korea
By Daniel Leussink
12/03/2013

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น กำลังพยายามหันมาร่ายมนตร์ความผูกพันส่วนตัวตั้งแต่ช่วงคนรุ่นก่อน เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกไม่เป็นมิตรในสายสัมพันธ์ระหว่างแดนอาทิตย์กับแดนโสมขาว ทว่ามันกลับแทบไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำยังอาจจะทำให้ พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีหญิงแห่งเกาหลีใต้ เกิดความขุ่นเคืองมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ โดยที่การยิงมุกฝืดๆ หลายครั้งหลายหนจากพวกเจ้าหน้าที่ของโตเกียว ก็มีแต่ซ้ำเติมสถานการณ์ ทั้งนี้ในเวลานี้โซลกำลังอยู่ในภาวะที่รู้สึกเดือดดาลจริงๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาระหว่างประเทศทั้งสอง

โตเกียว – แม้มองกันเพียงแค่แวบแรก เราก็สามารถพบเห็นได้ไม่ยากเย็นว่า คณะผู้นำทางการเมืองชุดใหม่ในญี่ปุ่นและในเกาหลีใต้ ดูเหมือนกำลังมองอีกฝ่ายหนึ่งด้วยความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกัน ชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีแนวทางแข็งกร้าวของญี่ปุ่น กำลังพยายามที่จะผ่อนคลายสภาพอารมณ์ในความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ด้วยการใช้มนตร์เสน่ห์ส่วนตัวของเขา ทว่า พัค กึน-ฮเย (Park Geun-hye) ของเกาหลีใต้ กลับกระทำไปในอีกทิศทางหนึ่ง เธอได้พูดระบายความหงุดหงิดไม่พอใจที่เธอมีต่อญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนมาหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่ที่เธอทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีที่เป็นสตรีคนแรกของแดนโสมขาว ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นจะต้อง “มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง และแสดงท่าทีแห่งความรับผิดชอบ ถ้าหากต้องการเป็นหุ้นส่วนกับเรา” พัค ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 61 ปีกล่าวเตือนในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม “มีแต่ญี่ปุ่นทำเช่นนี้แล้วเท่านั้น พวกเราจึงจะสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันอันหนักแน่นมั่นคงดุจหินผาขึ้นในระหว่างประเทศชาติของพวกเราได้ และถัดจากนั้นจึงจะสามารถก่อให้เกิดความปรองดองและการร่วมมือประสานงานกันในความหมายอันแท้จริงขึ้นมาได้”

ทั้งนี้วันที่ 1 มีนาคมที่เธอกล่าวปราศรัยคราวนี้ คือวาระครบรอบ 94 ปีแห่งการที่ประชาชนเกาหลีลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีเป็นอาณานิคมในระหว่างปี 1910 ถึง 1945

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน พัคก็ได้เคยกล่าวเตือนญี่ปุ่นด้วยลีลาเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนโสมขาวในทำนองเดียวกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว โดยเธอบอกกับ ทาโร อาโสะ (Taro Aso) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่มานั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการคลังในคณะรัฐบาลของอาเบะ ให้ฝ่ายญี่ปุ่นทำการแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายให้ถูกต้อง เมื่อตอนที่เธอพบปะพูดจากับ อาโสะ เป็นเวลา 25 นาทีในวันทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของเธอ

สายสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ อยู่ในภาวะตึงเครียดบูดบึ้งเรื่อยมา ตั้งแต่ที่ อี มยอง-บัค (Lee Myung-bak) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนหน้า พัค ได้เดินทางไปเยือนหมู่ก้อนหินกลางทะเลที่สองประเทศอ้างกรรมสิทธิ์ช่วงชิงกันอยู่ โดยที่ฝ่ายเกาหลีเรียกชื่อหมู่ก้อนหินนี้ว่า หมู่เกาะด็อคโด (Dokdo) ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นขนานนามว่า ทาเกชิมะ (Takeshima) พร้อมกันนั้น อี ยังแถลงว่า สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นควรจะต้องมีพระราชดำรัสขอโทษต่อบรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อเคราะห์ร้าย ในระหว่างที่ญี่ปุ่นทำการปกครองเกาหลีเป็นอาณานิคม ก่อนที่พระองค์จะสามารถเสด็จพระราชดำเนินเยือนเกาหลีใต้ได้

อาเบะ ซึ่งปัจจุบันอายุ 58 ปีและเป็นผู้นำของพรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP ที่เป็นแกนนำคณะรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน) เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการมีจุดยืนแบบสายเหยี่ยวแข็งกร้าวเมื่อมีการถกเถียงถึงประเด็นปัญหาอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของแดนอาทิตย์อุทัย กระนั้นเขาก็พยายามที่จะยื่นไม้ยื่นมืองอนง้อ พัค ในความประสงค์ที่จะหันเหพลิกกลับกระแสความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งอยู่ในสภาพที่เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โดยที่ในช่วงสัปดาห์แห่งพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประมุขประเทศของ พัค นั้น ยังมีบุคคลระดับอาวุโสของพรรคแอลดีพีคนอื่นๆ เป็นต้นว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ยาสุโอะ ฟุกุดะ (Yasuo Fukuda) และ ฟุกุชิโร นูงากะ (Fukushiro Nukaga) อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย เดินทางไปพบหารือกับ พัค ด้วย

“สำหรับเราแล้ว เกาหลีใต้เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญที่สุด” อาเบะกล่าวเช่นนี้ในระหว่างที่เขาไปเยือนสหรัฐฯเมื่อเดือนที่แล้ว “ผมเคยพบปะหารือกับว่าที่ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย 2 ครั้งด้วยกัน จริงๆ ผมยังมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารกับเธอด้วยซ้ำ คุณปู่ของผมเป็นเพื่อนมิตรที่ดีที่สุดคนหนึ่งกับคุณพ่อของเธอ ท่านประธานาธิบดี พัค จองฮี (Park Chung-hee) ดังนั้น ประธานาธิบดี พัค จองฮี จึงเป็นบุคคลท่านหนึ่งซึ่งมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก นี่เป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว”

อย่างไรก็ดี คำถามมีอยู่ว่า อาเบะกำลังเสี่ยงที่จะทำให้ตนเองห่างเหินโดดเดี่ยวจาก พัค หรือเปล่า จากการพูดจาเน้นย้ำสายสัมพันธ์ส่วนตัวอันใกล้ชิดสนิทสนมของพวกเขาเช่นนี้

“คำพูดทำนองนี้คงไม่เป็นที่ชื่นชอบรับฟังอะไรนักหรอกในกรุงโซล โดยเฉพาะในเมื่อช่วงหลังๆ มานี้ ความอดทนอดกลั้นต่อคำพูดที่อ้างอิงประวัติศาสตร์แบบไม่รู้จักกาลเทศะของฝ่ายญี่ปุ่น กำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ทีเดียว” วิกเตอร์ ชา (Victor Cha) ประธานฝ่ายเกาหลี (Korea Chair) ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) แสดงความเห็นเช่นนี้ในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของเขา “กระนั้นก็ตามที ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ก็เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของการมีสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) รวมทั้งในระดับบุคคลแล้วก็ยังคงมีความใกล้ชิดสนิทสนมให้กับญี่ปุ่น”

แต่สำหรับสื่อมวลชนของเกาหลีแล้ว ไม่ได้รู้สึกชื่นชมยินดีอะไรกับการกลับคืนสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของนักการเมืองสายเหยี่ยวอย่างอาเบะ ภายหลังที่ทิ้งช่วงไป 6 ปี (วาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคราวก่อนของอาเบะสิ้นสุดลงในปี 2007)

หนังสือพิมพ์โคเรียไทมส์ (Korea Times) เรียกร้องให้ พัค ปรับจุดยืนต่อญี่ปุ่นของเธอให้แข็งกร้าวยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่อาเบะแถลงแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนมกับเธอ “ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมองเห็นเหตุผลว่า อาเบะ ผู้ซึ่งต้องตระหนักเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่ามิตรภาพส่วนตัวดังที่เขาเอ่ยถึงนั้น ในเกาหลีแล้วมันคือภาระในทางลบ หาใช่เป็นทรัพย์สินในทางบวกไม่ แล้วทำไมเขาจึงแสดงความคิดเห็นในลักษณะเช่นนี้ออกมาอีก” หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตั้งคำถาม “ประธานาธิบดีพัค จำเป็นที่จะต้องแสดงความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้นในเวลารับมือกับญี่ปุ่น ทั้งนี้ถ้าหากไม่มีเหตุผลอื่นๆ เลย อย่างน้อยที่สุดก็ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อเป็นการลบเลือนจุดยืนนิยมญี่ปุ่นอันน่าละอายของบิดาของเธอ ถึงแม้มันอาจจะลบเลือนได้เพียงเล็กน้อยก็ตามที”

ไม่กี่วันก่อนหน้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของพัค อาเบะก็ได้ทำให้เกาหลีใต้อยู่ในความปั่นป่วนมาแล้ว ด้วยการจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไปเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการนำเอา ทาเกชิมะ (หมู่ก้อนหินกลางทะเลที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์) เข้ามารวมกับญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐบาลระดับท้องถิ่น นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลระดับชาติในกรุงโตเกียวกระทำเช่นนี้ และทำให้เกิดการตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนจากกรุงโซล นอกจากนั้นยังมีสมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่นไปร่วมงานดังกล่าวในปีนี้เป็นจำนวน 19 คน ซึ่งมากที่สุดเป็นสถิติใหม่

สื่อมวลชนญี่ปุ่นดูจะแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายๆ ละเท่าๆ กันในประเด็นที่ว่า อาเบะถูกหรือผิดที่ยังคงผลักดันเดินหน้าความปรารถนาของเขา ด้วยการจัดส่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับชาติไปเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองของท้องถิ่น โยมิอูริ ชิมบุง (Yomiuri Shimbun) หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดของญี่ปุ่น แสดงความสนับสนุนการตัดสินใจของเขาอย่างเต็มที่

“เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี อี มยอง-บัค ของเกาหลีใต้ ได้ทำลายบรรทัดฐานทางการทูต ด้วยการเดินทางไปเยือนทาเกชิมะ พร้อมกับเรียกร้องให้สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นต้องมีพระราชดำรัสขอโทษต่อพฤติกรรมของญี่ปุ่นในยุคอาณานิคม” บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตอบโต้ฝ่ายโสมขาว

“เป็นหน้าที่ของรัฐบาล (ญี่ปุ่น) ด้วยซ้ำที่จะต้องทำให้สาธารณชนเพิ่มความสนใจและความเข้าอกเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับดินแดน เพราะเรื่องเช่นนี้เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของชาติ” โยมิอูริ ร่ายต่อ “รัฐบาลกลาง (ของญี่ปุ่น) ควรที่จะเป็นผู้จัดงาน วันทาเกชิมะ Takeshima Day เสียเองเลยด้วยซ้ำไป”

พวกผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่า ภายใต้คณะรัฐบาลอาเบะชุดนี้ ยังคงมีระเบิดเวลาอีกหลายลูกนักที่สามารถสร้างความยุ่งยากวุ่นวายให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากส่วนผสมอันสามารถระเบิดเปรี้ยงป้างได้ง่ายๆ อยู่แล้ว ระหว่างชื่อเสียงกิตติคุณความเป็นเหยี่ยวแข็งกร้าวของอาเบะ กับสภาพอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นในเกาหลีใต้เวลานี้

วิกเตอร์ ชา แห่ง CSIS เตือนว่า การที่ญี่ปุ่นกำลังทำการทบทวนแก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์แดนอาทิตย์อุทัย น่าจะเป็นระเบิดเวลาลูกที่จะเกิดบึ้มขึ้นมาได้เร็วที่สุด โดยอาจจะแสดงฤทธิ์เดชกันในเดือนมีนาคมนี้ทีเดียว “ปฏิกิริยาของรัฐบาลพัค ต่อระเบิดลูกต่อไปในความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งก็คือการทบทวนแก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่อาจจะตูมตามขึ้นมาในเดือนหน้า (เดือนมีนาคม) จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงทิศทางในความสัมพันธ์นี้ได้เป็นอย่างดี” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้

ทางด้าน ไมเคิล คูเชค (Michael Cucek) นักวิจัยสมทบของ ศูนย์เพื่อการระหว่างประเทศศึกษา แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT Center for International Studies) อีกทั้งยังเป็นนักวิเคราะห์การเมืองอิสระ แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นอื่นๆ ที่อาจเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้ขึ้นมาได้ ยังมีดังเช่น การเปลี่ยนแปลงหรือการเพิ่มเติมคำแถลงแสดงความเสียใจสำนึกผิดปี 1995 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า คำแถลงมุรายามะ (Murayama statement ตามนามของ โตมิชิ มุรายามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น) และการทบทวนแก้ไข คำแถลงโคโนะ ว่าด้วยหญิงบำเรอชาวเกาหลี (Kono statement on Korean comfort women ตามชื่อของ โยเฮอิ โคโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้น) ที่ออกเมื่อปี 1993

“ผมคิดว่าอาเบะต้องการที่จะถอน (คำแถลงโคโนะ) ซึ่งดูจะเป็นเรื่องบ้าเอามากๆ เพราะประเด็นเรื่องหญิงบำเรอนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของชาวเกาหลีใต้ไปอย่างมากมายแล้ว มันเป็นบางสิ่งบางอย่างซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะต่อสู้อย่างบ้าคลั่งโดยไม่ฟังอะไรทั้งนั้น” คูเชค กล่าวในตอนท้ายของการสนทนาที่มหาวิทยาลัยเทมเปิล (Temple University) ในกรุงโตเกียว

“กรุงวอชิงตันนั้นมีแผนการที่ยอดเยี่ยมมาก นั่นคือในเมื่อเป็นเรื่องแพงมากที่พวกเขาจะมีกองทหารอยู่ในเอเชีย ดังนั้นก็ปล่อยให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ทำงานด้วยกันพื่อรับมือกับปัญหาด้านความมั่นคงทั้งหลายในเอเชียตะวันออกไปเลย และในที่สุดแล้วสหรัฐฯก็จะสามารถลดบทบาทของตนเองลงมาได้” คูเชคอธิบายแจกแจง “มีการพูดจาหารือกันอย่างมากมายเลยในกรุงวอชิงตัน เพื่อทำให้เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยที่ทั้งสองประเทศเองไม่จำเป็นที่จะต้องมีความต้องการในเรื่องนี้ด้วยหรอกนะ แต่ย่อมเป็นสิ่งที่มีเหตุผลอยู่แล้วที่จะต้องไม่ไปทำให้เกาหลีใต้โกรธกริ้ว และนี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งต่างๆ หลายๆ เรื่องซึ่งกำลังขบคิดพิจารณากันอยู่”

สำหรับ อิชิโร ฟุจิซากิ (Ichiro Fujisaki) อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐฯ เมื่อข้าพเจ้า (ดาเนียล เลอุสซิงก์) สอบถามเขาในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งทั้งในญี่ปุ่นและในเกาหลีใต้ เกี่ยวกับทัศนะมุมมองเขาที่มีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนี้สำหรับรอบปี 2013 เขาได้ตอบโดยเตือนพวกผู้นำในทั้งสองประเทศว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะปล่อยให้ความสัมพันธ์นี้เลวร้ายลงไปได้เนิ่นนานนักหรอก

“ผมหวังว่า ทั้งสองฝ่าย นั่นคือผู้นำใหม่ทั้งสองทั้งในเกาหลีใต้และในญี่ปุ่น จะมีความตระหนักสำนึกว่า พวกเราไม่สามารถที่จะปล่อยให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ ได้” เขากล่าว “มันไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศแน่ๆ ถ้าหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้นนานเกินไป”

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามเรื่องประเด็นหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้ ฟูจิซากิก็ตอบว่าเรื่องนี้ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้ทำอะไรไปให้มากมายเหลือเกินแล้ว เป็นต้นว่าการจัดตั้งกองทุนสำหรับสตรีแห่งเอเชีย (Asia's Women's Fund), การเสนอให้เงินชดเชยไถ่โทษแก่บรรดาเหยื่อ, และการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทำหนังสือขอโทษไปถึงเหยื่อแต่ละราย

“มันมีความจำกัดอยู่นะครับ เกี่ยวกับสิ่งที่เราสามารถทำได้ในประเด็นหญิงบำเรอนี่ ทั้งนี้ด้วยเหตุผล 2-3 ประการ” ฟูจิซากิ แจกแจง “ประการแรก เป็นเพราะเราได้จัดทำสนธิสัญญาพื้นฐานกับเกาหลีใต้ไปเรียบร้อยแล้ว และประการที่สอง บางครั้งมันเป็นเรื่องยากลำบากเอามากๆ ที่จะขีดเส้นให้ชัดเจนเกี่ยวกับการชดเชยในบางเรื่องบางอย่าง”

“เรากำลังทำอะไรไปมากมายเท่าที่เราสามารถทำได้แล้ว” เขายืนยัน “เราไม่ควรพยายามที่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ฝังติดแน่นเข้าไปอยู่ในความคิดจิตใจของประชาชน อย่างชนิดที่ถอนอย่างไรก็ถอนไม่ออก”

ดาเนียล เลอุสซิงก์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวดัตช์ ซึ่งพำนักอยู่ในโตเกียวมาตั้งแต่ปี 2007
กำลังโหลดความคิดเห็น