xs
xsm
sm
md
lg

ทน.ภูเก็ตจับมือซุปเปอร์ชีปจัดมุมอาหารเพื่อสุขภาพ และลดโรคอ้วนในเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ต ลงนามความร่วมมือกับห้างซุปเปอร์ชีป จัดตั้งมุมอาหารเพื่อสุขภาพ ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนในเด็กของเทศบาลนครภูเก็ต

วันนี้ (19 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยเรื่อง สมัชชาสุขภาพนครภูเก็ต ระหว่างเทศบาลนครภูเก็ต กับ บริษัทซุปเปอร์ชีป จำกัด โดยนายแพทย์โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และนางวันดี บรรเลงจิต เลขานุการผู้บริหารบริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด เพื่อสนับสนุนการนำยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะโภชนาการเกิน และโรคอ้วนในเด็ก พ.ศ.2555-2556 ของเทศบาลนครภูเก็ต มีนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ สาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครภูเก็ต และบริษัทซุปเปอร์ชีป จำกัด เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโภชนาการเกิน และโรคอ้วนในเด็ก

โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้กำหนดแนวทาง และกิจกรรมความร่วมมือ ดังนี้ ในส่วนของเทศบาล เน้นดำเนินงาน และกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ โดยเฉพาะในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บริษัทซุปเปอร์ชีป จำกัด เน้นจัดให้มีมุมอาหาร ขนมสุขภาพ เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำ สนับสนุนการจำหน่ายผักปลอดสารพิษ และขายอาหารท้องถิ่นชูสุขภาพ และสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาหาร ขนมชูสุขภาพ รวมทั้งเครื่องดื่มน้ำตาลต่ำในร้านค้า

นายแพทย์โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวถึงกรณีเด็กอ้วนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต สู่สมัชชาสุขภาพนครภูเก็ต ประเด็นการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนในเด็ก ว่า จากสถานการณ์ภาวะโภชนาการเกินของนักเรียนใน 5 โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 8.43 ในปีการศึกษา 2547 เป็นร้อยละ 15.00 ในปีการศึกษา 2548 ดังนั้น กองการแพทย์ เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติจัดทำ 5 มาตรการ คือ มาตรการของเด็ก ผู้ปกครอง แผงลอย สื่อ และโรงเรียน เพื่อป้องกันแก้ไขโรคอ้วน พบว่าอุบัติการณ์นักเรียนอ้วนลดลงระหว่างปี 2549-2551 ร้อยละ 14.07, 10.8 และ 10.15 ตามลำดับ แต่กลับเพิ่มเป็นร้อยละ 12.51 ในปีการศึกษา 2552
 
ดังนั้น จึงได้นำกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย การกลั่นกรองปัญหา การกำหนดขอบเขตของปัญหา การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ การจัดทำรายงาน ข้อเสนอแนะ การติดตามประเมินผล มาใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมของ 6 ภาคี คือ นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ค้า แผงลอยหน้า/นอกโรงเรียน สื่อมวลชน ครู/ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารเทศบาล เพื่อร่วมกำหนดมาตรการและช่วยกันป้องกัน/แก้ไขปัญหานักเรียนอ้วนใน 7 โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต

ในปีการศึกษา 2553 นักเรียนอ้วนของทั้ง 7 โรงเรียน ลดลงจากร้อยละ 17.04 เหลือ ร้อยละ 15.66 เกิดเครือข่ายและนวัตกรรมของโรงเรียน โดยมี Facebook ชื่อ Phuket Healthy Kids และยังได้ใช้ศิลปะการละครเป็นสื่อประชาสัมพันธ์อันตรายของโรคอ้วนให้แก่นักเรียนภายใต้แนวคิด “ไม่ห้ามแต่ให้ความรู้ ไม่ก่อศัตรูและผูกมิตร”

อย่างไรก็ตาม การอาศัยการมีส่วนร่วมของ 6 ภาคี ดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่ผ่านมา แผงลอยรอบโรงเรียนยังให้การสนับสนุนน้อย กลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการประเภทอาหารกรุบกรอบ และการโฆษณายังก่อให้เกิดปัญหากับการรับรู้ของเด็ก ผู้ปกครองบางส่วนยังยึดติดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กสมบูรณ์ เด็กอ้วนบางคนยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภคอาหาร ทางเทศบาลนครภูเก็ตจึงต่อยอดด้วยการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพนครภูเก็ต ประเด็น การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก โดยเชิญพหุภาคีจาก 23 โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต ผู้บริหารเทศบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทุกภาคส่วน ร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2555 เพื่อจัดทำแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก พ.ศ.2555-2564 และในวันนี้ (19 ก.พ.) ทางเทศบาลนครภูเก็ตก็ได้ร่วมกับบริษัทซุปเปอร์ชีป จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงจัดตั้งมุมอาหาร/ขนมสุขภาพ ให้แก่คนภูเก็ต เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ควบคุมการจำหน่ายอาหารประเภทไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียมสูงบริเวณรอบสถานศึกษาในรัศมีไม่น้อยกว่า 200 เมตร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น