ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเวทีระดมความเห็นภาคอีสาน ประกอบการทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับใหม่ เผยกระแสตื่นตัวบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยสูง ขณะที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้วกว่า 2 แสนไร่ ตั้งเป้าอนาคตขึ้นแท่นศูนย์กลางผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน
วันนี้ (15 ก.พ.) ที่โรงแรมขอนแก่น โฮเต็ล จ.ขอนแก่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดมความเห็น ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556-2559 (ฉบับที่ 2) มีผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรเกษตรกร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นจำนวนมาก
นายนิวัต สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสรักษ์สุขภาพมีสูงมาก บุคคลทั่วไปหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และใส่ใจกับอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้เกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะกระขวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ซึ่งผลของการส่งเสริมและพัฒนาตามยุทธศาสตร์ ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์กว่า 212,000 ไร่ ผลผลิตกว่า 5,900 ตัน มูลค่าภายในประเทศกว่า 1,752 ล้านบาท
นายนิวัตกล่าวว่า จะเห็นได้ว่าเกษตรอินทรีย์ของไทยพัฒนาขึ้นมาจนมีความสำคัญต่อสังคม เศรษฐกิจ และมีโอกาสสูงในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงควรที่จะขยายการผลิต การบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกทางหนึ่ง และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะไทยมีความพร้อมทุกด้าน
“กระแสความนิยมบริโภคอาหารปลอดสารพิษของไทยตื่นตัวกันมาก ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เราต้องการให้มูลค่าการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยต้องขยายตัวอย่างน้อย 10% ต่อปี”
นายนิวัตกล่าวว่า ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ฉบับนี้จะมีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกประเด็นได้ก็ต่อเมื่อมีการระดมความคิดเห็นจากมีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 4 ภูมิภาค ครั้งนี้เป็นภูมิภาคแรก โดยวันที่ 18 กุมภาพันธ์จะจัดที่ภาคเหนือ ส่วนภาคใต้วันที่ 4 มีนาคม และภาคกลางที่กรุงเทพฯ วันที่ 8 มีนาคม คาดว่าจะประมวลข้อมูลและจัดทำร่างยุทธศาสตร์แล้วเสร็จ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมีนาคมนี้