xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ถก ครม.ส่งท้ายปี 55 จับตาแนวทางประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการประชุม ครม. (แฟ้มภาพ)
“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ประชุม ครม.ส่งท้ายปี 2555 จับตาแนวทางประชามติ หลังคณะทำงานฯ ถกนัดแรก กระทรวงคลังเสนอขยายเวลามาตรการลดภาษี เขตพัฒนาพิเศษชายแดนใต้ กระทรวงเกษตรฯ ชงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรรับมือภูมิอากาศโลกแปรปรวน กระทรวงศึกษาฯ ขออนุมัติบ้าน หนังสืออัจฉริยะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช้าวันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นนัดสุดท้ายของปี พ.ศ. 2555 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีวาระการเมืองที่น่าสนใจ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะรายงานผลการประชุมคณะทำงานศึกษาแนวทางประชามติ ที่มอบให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพจัดทำประชามติ ต้องดูว่ามีรัฐมนตรีท่านใดท้วงติงหรือไม่

ด้านกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการทางการเงินและมาตรการภาษีในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ต่อไปอีก 2 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556-31 ธ.ค. 2557 ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับผู้มีเงินได้มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับผู้มีเงินได้มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อีกทั้งการเสนอให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้ ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราแค่ 0.1% ของเงินได้จากราคาขายอสังหาริมทรัพย์ และผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้ว ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) (2) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ยาวไปถึงวันที่31 ธ.ค. 2557

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบขยายมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนของธนาคารออมสินซึ่งมีวงเงินอยู่ 2.5 หมื่นล้านบาทออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2556 โดยให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งใช้วงเงินที่เหลือให้เต็มวงเงินก่อน

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ขอความเห็นชอบยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี พ.ศ. 2556-2559 ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ “สร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตรกร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคเกษตรสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสริมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรสร้างความมั่นคงของฐานการผลิตเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของประเทศภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อให้ภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเหมาะสม เป็นธรรมบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

สำหรับระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2556-2559) ภายใต้ ประเด็นยุทธศาสตร์มี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มี 2 กลยุทธ์ คือ 1. เตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกัน 2. การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเก็บกักและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร มี 2 กลยุทธ์ คือ 1. การพัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้ก๊าซเรือนกระจก 2. ส่งเสริมสนับสนุนการปรับระบบการผลิตสู่เกษตรกรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร มี 5 กลยุทธ์ คือ 1. การพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 3. เพิ่มศักยภาพบุคลากร 4. พัฒนาการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 5. สร้างกลไกในการติดตาม ขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเป็นระบบยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรฯ จะมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนภูมิอากาศเกิดการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีระบบ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกษตรกรมีภูมิคุ้มกัน สามารถรองรับและบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเกษตรกรของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขออนุมัติปรับเปลี่ยน “โครงการคูปองสร้างเสริมอัจฉริยะ”ตามที่บรรจุไว้ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็น “โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ” โดยใช้ระยะเวลาและงบประมาณในการดำเนินการโครงการคงเดิม คือตุลาคม 2555-กันยายน 2556

โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่จะเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบในปี พ.ศ. 2558 และเพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล รวมทั้งเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบบ้านหนังสืออัจฉริยะหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชน ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” และองค์ความรู้ที่สนใจได้อย่างต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายให้มีบ้านหนังสืออัจฉริยะหรือห้องสมุดประชาชนหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ปกติทั่วประเทศ จำนวน 40,000 แห่งบ้านหนังสืออัจฉริยะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 1,800 แห่ง และห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จำนวน 87 แห่ง

ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอความเห็นชอบในหลักการดำเนินโครงการทุนศึกษาด้านการสอนภาษาต่างประเทศที่สองเพื่อผลิตครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน โดยขออนุมัติอัตราข้าราชการครูเพื่อบรรจุผู้รับทุนจำนวน 600 อัตรา ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2561 โดยเฉลี่ย 150 ทุนต่อปี ทั้งนี้จำนวนทุนต่อปีอาจปรับเพิ่ม-ลด ไม่เกินร้อยละ 5 ตามสถานการณ์ที่จำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น