xs
xsm
sm
md
lg

ประสารชี้จีดีพีปีหน้า4.6%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติคาดเศรษฐไทยปีหน้าโต 4.6% จากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเป็นตัวหนุน แต่ต้องจับตาปัจจัยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มีผลทั่วประเทศ กับภาวะเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐ เผยปีนี้จีดีพีโตกว่า 5.7% ตามคาดการณ์จากพื้นฐานเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนจากใน 10 เดือนแรกของปี

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ถอดรหัสปัจจัยเสี่ยง รับความท้าทายเศรษฐกิจศักราชใหม่" ในงานสัมมนาจัดโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2555 มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 5.7 ตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้
การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยว การฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย มาตรการภาครัฐ ช่วยให้เศรษฐกิจยังดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีการลงทุนเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ดัชนีบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ต่อเดือน
สำหรับภาคการผลิตเพื่อขายในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง จึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโตกว่าคาด การลงทุนนอกจากความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ยังคาดว่าจะเห็นการลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ รองรับพร้อมเข้าสู่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
"ดังนั้นปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังจะต้องพึ่งพิงแรงส่งจากในประเทศหรือพึ่งตัวเองต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา โดยการบริโภคยังมีแรงหนุนจากรายได้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือน และภาวะการเงินที่ยังผ่อนคลาย การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวได้ในอัตรา 4.6%" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกคือ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก จากปัญหาหนี้ยุโรปอาจประทุขึ้นอีกในปีหน้า ต้องติดตามดูการขยายมาตรการทางการคลังของสหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ สำหรับเศรษฐกิจจีนและเอเชียน่าจะฟื้นตัวได้ดี ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในแถบภูมิภาคนี้ และส่งผลให้เงินบาทผันผวนต่อเนื่องอีก จากเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาผลตอบแทนที่สูงกว่า
ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายในประเทศ จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต้องติดตามดูว่าจะปรับตัวรองรับได้อย่างไร โดยต้องรอดูการลงทุนจากภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากโครงการรัฐล่าช้าจะดึงโครงการลงทุนเอกชนที่เกี่ยวเนื่องล่าช้าตามไปด้วย ส่วนภาคครัวเรือนประชาชนควรออม และรู้จักบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจมาพร้อมความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
"แบงก์ชาติจะบริหารนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อไม่กระทบราคาวัตถุดิบและราคาสินค้า และส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่เข้มแข็งนำเงินทุนออกไปลงทุนต่างประเทศ ตลอดจนการดูแลสถาบันการเงินให้เข้มแข็งหนุนพื้นฐานเศรษฐกิจดีต่อเนื่อง" นายประสารกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น