xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งแก้ปัญหาเด็กไทยสัดส่วนต่ำกว่ามาตรฐาน 1.2 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กไทยสูงสมส่วน สมองดี แข็งแรง ตามนโยบาย Every Woman Every Child หวังส่งเสริมให้เด็กไทยเติบโตเต็มศักยภาพ หลังพบปัญหาเด็กไทยสัดส่วนไม่ได้มาตรฐาน 1.2 ล้านคน เตี้ยกว่าเกณฑ์ถึง 2.5 แสนคน และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 2.2 แสนคน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (27 ก.พ.) ที่โรงแรมเอบีน่า เฮาส์ กรุงเทพฯ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ร่วมใจสร้างเด็กไทยสูงสมส่วน สมองดี แข็งแรง” ว่า จากข้อมูลสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2554 พบว่า เด็กไทยมีสัดส่วนไม่ได้มาตรฐานจำนวน 1.2 ล้านคน จำนวนนี้มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 223,288 คน และส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ 258,149 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกายทำให้เด็กตัวเล็ก ผอม เตี้ย สมองไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ สติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย หากพบในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี และมีการเจ็บป่วยร่วมด้วยเป็นระยะเวลานาน อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ กรมอนามัยจึงขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็กไทย เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 18 ปี

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเด็กไทยสูงสมส่วน สมองดี แข็งแรง 2.การสร้างกระแสและสื่อสารสู่สังคมเพื่อสร้างเด็กไทยสูงสมส่วน สมองดี แข็งแรง 3.การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์ และการเจริญเติบโตของเด็ก 4.การจัดการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในครอบครัว ชุมชน ศูนย์เด็ก และโรงเรียน 5.การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมเด็กไทยสูงสมส่วน สมองดี แข็งแรง และ 6.การติดตามและประเมินผล โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเจริญเติบโตให้เด็กไทยมีส่วนสูงระดับดีและมีรูปร่างสมส่วน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายใต้แผนการดูแลสุขภาพเด็กแรกเกิดถึง 2 ปีอย่างมีคุณภาพ แผนงานดูแลสุขภาพเด็กอายุ 3-5 ปี อย่างมีคุณภาพ และแผนการพัฒนาสุขภาพเด็กนักเรียน (อายุ 6-12 ปี) อย่างมีคุณภาพ

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและสตรีไทย ตามโครงการ Every Woman Every Child ที่ประกาศในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกด้านโภชนาการ หวังลดปัญหาเด็กไทยเตี้ย ขาดสารอาหารและภาวะอ้วน รวมถึงเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลดภาวะโลหิตจางและทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กไทยเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ป้องกันปัญหาด้านโภชนาการ ลดภาวะเตี้ย ผอมและอ้วน ลดปัญหาทุพโภชนาการ โดยการขับเคลื่อนงานในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุแรกเกิดถึง 18 ปี ให้มีภาวะโภชนาการที่ดี เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น