กรมอนามัย ร่วมจับมือเครือข่าย ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและสมรรถนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชนและภาคีเครือข่ายให้มีทักษะและความสามารถในการบริหารจัดการและพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการสมวัยของเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียน
วันนี้ (22 ก.พ.) โรงแรมริชมอนด์ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน ว่า ปัจจุบันเด็กไทยยังประสบปัญหาภาวะวิกฤตสุขภาพอ้วน ผอม เตี้ย จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2554 พบว่า เด็กไทยสัดส่วนไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 1.2 ล้านคน จำแนกเป็นน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 223,288 คน น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 590,087 คนและส่วนสูงต่ำหว่าเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 258,149 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากเด็กมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยกรมอนามัยได้มีการดำเนินงานเพื่อควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 77 จังหวัด ผ่านโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน่าอยู่ โรงเรียนไร้พุง และโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จากการประเมินผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนของกรมอนามัยในปี 2553 พบว่าการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวยังมีปัญหาทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพส่งผลให้การแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กไทย ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันโภชนาการ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย และ สสส.
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สสส.และอุปนายกสมาคมโภชนาการ กล่าวเสริมว่า จากปัญหาดังกล่าว จากความร่วมมือภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบและกลไกพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ใน 9 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ ลำปาง สงขลา และภูเก็ต ซึ่งผลการดำเนินงานมา 3 ปี พบว่า หากมีการจัดอาหารกลางวันภายใต้งบ 13 บาท/คน/วัน คุณภาพอาหารจะต่ำกว่ามาตรฐานโภชนาการไม่สามารถจัดเมนูผักและผลไม้ได้ทุกวันปริมาณเนื้อสัตว์น้อย ซึ่งควรมีการเพิ่มค่าอาหารกลางวันจาก 13 บาท เป็น 15-20 บาท โดยใช้งบท้องถิ่น ทำให้สามารถจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น จัดเมนูผักและผลไม้ทุกวัน หรืออย่างน้อยจัดผลไม้ได้ 3 วันต่อสัปดาห์ จัดเมนูเพิ่มตับ เลือด ไข่ ปลา หรือเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนและมีการจัดให้มีนักโภชนาการประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน หรือบุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันและผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้บริหาร ครู แม่ครัว แม่ค้า แกนนำนักเรียน และผู้ปกครองได้รับการอบรมหลักสูตรอาหารและโภชนาการต่อเนื่อง เพื่อให้มีทักษะในการจัดอาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน (SPEC) ซึ่งเป็นการจัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการสำหรับใช้ในการจ้างเหมาบริการอาหาร และมีการบริหารจัดการแบบครัวกลางที่เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ทำให้ควบคุมคุณภาพอาหารตามมาตรฐานโภชนาการและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
“นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมให้ครอบครัว/ชุมชนปลูกผักปลอดภัย 5 ชนิดผักต่อ 1 ครัวเรือน และจำหน่ายให้กับโครงการอาหารกลางวัน โดยมีการจัดทำเมนูอาหารหมุนเวียนอย่างน้อย 1 เดือนที่สอดคล้องกับทะเบียนผักผลไม้ของกลุ่มเกษตรกรในชุมชน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนได้ และส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยให้กับเด็กและครอบครัวแล้วยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจและร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบคุณภาพอาหาร ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาที่เร็วขึ้น โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีกลไกสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ คือ การบรรจุงานอาหารและโภชนาการ เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น และมีมาตรการทางสังคมด้านอาหารและโภชนาการตลอดจนส่งเสริมการเรียนการสอนด้านโภชนาการที่นำสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ได้อย่างง่ายและยั่งยืนเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยต่อไป” นายสง่า กล่าว