xs
xsm
sm
md
lg

สธ.คาดปี’ 58 เด็ก 1 ใน 10 อ้วนฉุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เผยแนวโน้มปี 58 เด็กวัยเรียน 1 ใน 10 เสี่ยงอ้วน เหตุพฤติกรรมด้านโภชนาการไม่ถูกต้องสมวัย จับมือภาคีเครือข่ายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประกวดสื่อนวัตกรรมโภชนาการ หวังพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย

วันนี้ (25 ม.ค.) นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประกวดสื่อนวัตกรรมโภชนาการสมวัย ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี ว่า ปัญหาผอม อ้วน เตี้ย ไอคิวต่ำ ยังคงคุกคามสุขภาพเด็กไทย สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจากการสำรวจโภชนาการเด็กไทย พบว่าเด็กกินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนโต๊ะ ทั้งๆ ที่ควรกินไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ช้อนโต๊ะ ส่งผลให้เด็กไทยมีปัญหามีปัญหาภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกิน โดยคาดว่า ในปี 2558 ความชุกของโรคอ้วนในเด็กไทยสูงถึง 1 ใน 5 ของเด็กวัยก่อนเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กวัยเรียนจะเป็นโรคอ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด และมีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดสารไอโอดีน และเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากไม่มีการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยในระยะยาวได้

นพ.ธีรพล กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัย และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบและกลไก เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยพัฒนาศักยภาพคนในท้องถิ่นและชุมชนใน 9 จังหวัดนำร่องให้มีความสามารถบริหารจัดการนำทรัพยากรของตนเองมาพัฒนาพฤติกรรมทางอาหารโภชนาการในเด็กไทยวัยก่อนเรียน และวัยเรียน พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหันมาใส่ใจพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันจากเดิม 13 บาทต่อคน เป็นวันละ 15, 18 และ 20 บาทต่อคน

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ท้องถิ่นและชุมชนได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางสังคม เพื่อควบคุมคุณภาพอาหารกลางวันและอาหารว่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน พร้อมสร้างกระบวนการให้ชุมชนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสื่อโภชนาการ แล้วนำไปสอนบุตรหลานของตนเอง และที่สำคัญอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) และสื่อท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารด้านอาหารและโภชนาการในชุมชน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เกิดระบบกลไก และนวัตกรรมด้านโภชนาการ โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลและ อบต.ตระหนักถึงความสำคัญ และมีความสามารถบริหารจัดการพัฒนาเด็กด้านโภชนาการ ชุมชน ท้องถิ่น ได้ค้นหาปัญหาโภชนาการด้วยตนเอง แล้วเกิดระบบการคืนข้อมูลสู่ชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น