xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพเด็กไทยดีขึ้นหลังเดินตามแนวพระราชดำริ เล็งแก้ปัญหาเด็ก-สามเณรอ้วนเตี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยสุขภาพเด็กไทยดีขึ้น หลังเดินหน้าโครงการตามแนวพระราชดำริมากว่า 20 ปี ทั้งด้านโภชนาการ อนามัยแม่และเด็ก ทันตสุขภาพ เล็งแก้ปัญหากลุ่มเด็กปฐมวัยและสามเณรประสบภาวะอ้วนเตี้ย

นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ดำเนินงานตามพระราชดำริในโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน และโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร มากว่า 20 ปีแล้ว โดยได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำเสริมไอโอดีน เกลือเสริมไอโอดีน การตรวจคอพอก และการให้ความรู้เรื่องโรคขาดสารไอโอดีน ทำให้ภาวะคอพอกในนักเรียนจากร้อยละ 22 ในปี 2535 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในปี 2554 นอกจากนี้ การให้บริการสุขภาพอนามัยแม่และเด็กอายุ 3 ปี ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม ได้รับความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ช่วยให้แม่มีภาวะโภชนาการที่ดี สุขอนามัยดี เด็กเกิดรอดปลอดภัย เติบโตมีพัฒนาเต็มศักยภาพ จากเดิมปี 2538 อัตราตายทารก 26.5 ต่อพันการเกิดมีชีพ ลดลงเหลือ 14.8 ต่อพันการเกิดมีชีพ ในปี 2554 และทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 19 ในพื้นที่ชาวไทยภูเขา ตลอดจนให้บริการความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพด้วยตนเองแก่เด็กวัยเรียน เยาวชน และสามเณรโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายตามพระราชดำริ
แฟ้มภาพ
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ภาพรวมของภาวะสุขภาพของเด็กและเยาวชนในพื้นที่โครงการตามพระราชดำรินับว่าดีขึ้นตามลำดับ แต่มีบางกลุ่มที่มีปัญหาภาวะโภชนาการ โดยข้อมูลปี 2554 พบว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมีเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมเตี้ย ร้อยละ 8 โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีสามเณรเตี้ย ร้อยละ 6 และอ้วน ร้อยละ 11 และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) มีหญิงมีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20 ฝากครรภ์ ร้อยละ 43 คลอดกับหมอตำแย ร้อยละ 72 นอกจากนี้ จากรายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศครั้งที่ 6 พบว่า เด็กอายุ 12 ปี และ 15 ปี มีฟันผุ และเคยขาดเรียนด้วยอาการปวดฟัน ร้อยละ 4.29 สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการกินและการดูแลทันตสุขภาพที่ไม่เหมาะสม

“ทั้งนี้ กรมอนามัย สธ.ได้จัดอบรมให้ความรู้ครูพยาบาลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ดำเนินงานทันตสุขภาพตามแนวคิดการพัฒนาสุขภาพช่องปากเด็ก โดยจับมือกันเป็นคู่หู คู่พัฒนา สุขภาพเด็กร่วมกัน สร้างความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพและโภชนาการในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) ให้มีความรู้ ความสามารถในการดูแลสุขภาพนักเรียนและคนในชุมชนถิ่นทุรกันดารได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเช่นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย ที่ได้ร่วมเป็นโรงเรียนคู่หูจัดทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน สามารถลดปัญหานักเรียนแปรงฟันไม่สะอาดจากร้อยละ 50.35 เหลือร้อยละ 20.20 นักเรียนฟันผุลดลงจากเดิมฟันผุร้อยละ 45 เหลือร้อยละ 14.55” นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้สนับสนุนให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 178 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมพัฒนาเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3 ระดับทอง จำนวน 53 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 30 ทั้งนี้ การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของกรมอนามัย เพื่อต้องการให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ภายใต้เป้าหมายสูงสุดตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวพระราชดำริและโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น