พะเยา - “สุรวิทย์” แนะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงป้องกันโรค “ปอดบวม” ช่วงอากาศเปลี่ยนปลายฝนต้นหนาว เผยพยาบาลอัตราจ้างบรรจุแน่ 8,000 อัตรา อีก 70,000 รอประชุมสรุปเร็วๆนี้
รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยา แจ้งว่า ระหว่างนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และรับฟังปัญหา พร้อมมอบนโยบายการดูแลสุขภาพ และบริการประชาชนแก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม.จังหวัดพะเยาที่โรงพยาบาลพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา สุดสัปดาห์นี้ ได้ระบุว่า
ขณะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิเริ่มลดลงเรื่อยๆ ในช่วงที่อากาศเย็นลง ฝากเตือนประชาชนให้รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคไต และโรคโลหิตจาง เพราะกลุ่มเหล่านี้เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไปเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าภาคอื่น ออกประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการเจ็บป่วย โดยออกคำแนะนำการป้องกันโรคภัยหนาวที่พบได้บ่อย คือ โรคระบบทางเดินหายใจ ในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม-14 ตุลาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 155,218 ราย เสียชีวิต 983 ราย ส่วนใหญ่คือร้อยละ 43 เป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า โรคปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอมาก เจ็บหน้าอกหายใจหอบ มีเสมหะมาก ส่วนใหญ่จะพบหลังป่วยด้วยโรคไข้หวัดประมาณ 3 วัน ไข้ไม่ลดลง ไอมาก หายใจหอบ น้ำมูกขุ่นข้นเขียว ในเด็กเล็กจะพบไข้สูง เด็กซึม ไม่กินน้ำ-กินนม ไอมีเสมหะ หายใจหอบเร็ว หรือหายใจมีเสียงดังหวีด หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ขอให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เพื่อลดอาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิต
นายแพทย์สุรวิทย์ ยังได้กล่าวถึงกรณีการบรรจุพยาบาลอัตราจ้างที่มีการเรียกร้องและทวงถามของพยาบาลทั่วประเทศว่า ล่าสุด จะมีการประชุมของคณะผู้บริหารในวันที่ 30 ต.ค.55 นี้ คาดว่าจะสามารถบรรจุพยาบาลอัตราจ้างได้ไม่น้อยกว่า 8,000 อัตราก่อนสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานก่อน พ.ศ.2549 รวมถึงการพิจารณาถึงคุณสมบัติประกอบด้วย เช่น ระยะเวลาการเข้าทำงาน การทำงานในถิ่นทุรกันดาร และผลงานเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาด้วย
ส่วนที่เหลืออีกราว 70,000 กว่าคนที่รอการบรรจุ จะมีการประชุมร่วมระหว่าง ก.พ. และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหาข้อสรุปต่อไป