โดย...นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบแล้ว ผลผลิตมวลรวมประชาชาติในภาคอุตสาหกรรมนั้นมากกว่าภาคเกษตรกรรมกว่า 3 เท่า จึงไม่แปลกที่แทบทุกอำเภอในประเทศไทยในปัจจุบัน เริ่มมีโรงงานหรืออุตสาหกรรมคืบคลานไปแม้จะอยู่ห่างไกล
หลักการประการสำคัญของมลพิษกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกรอบความคิดมาตรฐานคือ การอนุญาตให้ปล่อยมลพิษได้ แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนด และบ่อยครั้งที่คำตอบของการตรวจสอบการปล่อยมลพิษจะแจ้งผลการตรวจวัดว่า “ไม่เกินค่ามาตรฐาน” ซึ่งคล้ายกับว่า หากไม่เกินค่ามาตรฐานก็แปลว่าปลอดภัย และยังปล่อยมลพิษได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ทำให้คำว่า “ไม่เกินมาตรฐาน” นั้นบ่อยครั้งที่แสลงใจคนในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่สังคมพึงรับรู้ไว้คือ แม้ไม่เกินค่ามาตรฐานไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัย โดยหลักพิษวิทยาซึ่งก็หมายถึงมลพิษวิทยาด้วยนั้น มีหลักการใหญ่ประการสำคัญคือ ความเป็นพิษแปรผันตามความเข้มข้นของสารพิษที่เราได้รับ ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานมลพิษของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร การได้รับมลพิษนี้ที่มีความเข้มในบรรยากาศในระดับ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าที่ความเข้มข้นต่ำกว่านั้น
ค่ามาตรฐานนั้นเป็นค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปสามารถทนได้หรือไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรงเท่ากัน ดังนั้นกลุ่มคนที่อ่อนแอเช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ย่อมมีความทนต่อมลพิษนั้นน้อยกว่า ในระดับค่ามลพิษที่ไม่เกินมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนๆ นั้นก็เป็นได้
ค่ามาตรฐานก็เป็นปัญหาทางวิชาการ สารพิษหลายตัวไม่มีงานวิจัยที่จะบอกค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย สารพิษหลายตัวยากที่จะตรวจพบได้ หรือการตรวจนั้นยุ่งยากมีราคาแพง ดังนั้นมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษจึงควบคุมสารมลพิษเพียงไม่กี่ชนิดเท่าที่ตรวจวัดได้ง่าย สารมลพิษอีกมากมายไม่มีการตรวจวัด ไม่มีการเฝ้าระวังแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เมื่อได้รับสารมลพิษในระดับต่ำกว่ามาตรฐานเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเข้าได้กับทฤษฎี chronic low dose exposure ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกันอย่างน้อยในระดับอาการ กล่าวคือ เนื่องจากระดับมลพิษมีความเข้มข้นต่ำ ไม่ทำให้เกิดโรคแต่ก็สามารถส่งผลกระทบในระดับอาการ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายหรือไม่สุขสบายได้ และในระยะยาวจะส่งผลให้เป็นโรคตามมา และแม้ตรวจพบระดับสารมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็อาจทำให้เกิดโรคได้โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่อ่อนแอ หรือแม้ไม่เกิดโรคในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจสะสมและเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา เชื่อว่าที่ปัจจุบันที่ผู้คนป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้นอย่างมากมายนั้นสาเหตุสำคัญก็มาจากการรับสารพิษและมลพิษที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน รับจำนวนน้อยๆ แต่ต่อเนื่องยาวนานนั่นเอง
โต๊ะอิหม่ามรอหีม สะอุ ผู้นำคนสำคัญในตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้เคยพูดไว้อย่างน่าฟังว่า “ปล่องควันที่มีมากมายทุกปล่องของทุกโรงงานล้วนปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่จมูกของชาวบ้านมีแค่สองรู มลพิษจากทุกปล่องควันก็มารวมกันในรูจมูกและปอดของชาวบ้าน แล้วสุขภาพจะดีได้อย่างไร จากชุมชนเกษตรที่เคยสุขสงบ อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี พอการพัฒนาเข้ามา โรงงานเข้ามา คนที่รับกรรมคือชาวบ้าน แต่ผลกำไรอยู่กับนายทุนและคนถือหุ้นที่อยู่ไกลออกไปนอกชุมชน” นับเป็นทัศนะที่เจ็บปวดที่สุดของชาวบ้านในชุมชนรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
“ไม่เกินค่ามาตรฐาน” จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชุมชน การใส่ใจในทุกมิติของภาคอุตสาหกรรมที่จะลดมลพิษให้มากที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือสิ่งที่ควรจะเป็น แต่หากชุมชนไม่มีส่วนร่วม องค์กรท้องถิ่นยังอ่อนแอ และภาครัฐยังไม่ทำหน้าที่ตามกฏหมายอย่างเข้มแข็ง ก็ยากที่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยจะดีขึ้น
ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบแล้ว ผลผลิตมวลรวมประชาชาติในภาคอุตสาหกรรมนั้นมากกว่าภาคเกษตรกรรมกว่า 3 เท่า จึงไม่แปลกที่แทบทุกอำเภอในประเทศไทยในปัจจุบัน เริ่มมีโรงงานหรืออุตสาหกรรมคืบคลานไปแม้จะอยู่ห่างไกล
หลักการประการสำคัญของมลพิษกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกรอบความคิดมาตรฐานคือ การอนุญาตให้ปล่อยมลพิษได้ แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนด และบ่อยครั้งที่คำตอบของการตรวจสอบการปล่อยมลพิษจะแจ้งผลการตรวจวัดว่า “ไม่เกินค่ามาตรฐาน” ซึ่งคล้ายกับว่า หากไม่เกินค่ามาตรฐานก็แปลว่าปลอดภัย และยังปล่อยมลพิษได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ทำให้คำว่า “ไม่เกินมาตรฐาน” นั้นบ่อยครั้งที่แสลงใจคนในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่สังคมพึงรับรู้ไว้คือ แม้ไม่เกินค่ามาตรฐานไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัย โดยหลักพิษวิทยาซึ่งก็หมายถึงมลพิษวิทยาด้วยนั้น มีหลักการใหญ่ประการสำคัญคือ ความเป็นพิษแปรผันตามความเข้มข้นของสารพิษที่เราได้รับ ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานมลพิษของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร การได้รับมลพิษนี้ที่มีความเข้มในบรรยากาศในระดับ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าที่ความเข้มข้นต่ำกว่านั้น
ค่ามาตรฐานนั้นเป็นค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปสามารถทนได้หรือไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรงเท่ากัน ดังนั้นกลุ่มคนที่อ่อนแอเช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ย่อมมีความทนต่อมลพิษนั้นน้อยกว่า ในระดับค่ามลพิษที่ไม่เกินมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนๆ นั้นก็เป็นได้
ค่ามาตรฐานก็เป็นปัญหาทางวิชาการ สารพิษหลายตัวไม่มีงานวิจัยที่จะบอกค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย สารพิษหลายตัวยากที่จะตรวจพบได้ หรือการตรวจนั้นยุ่งยากมีราคาแพง ดังนั้นมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษจึงควบคุมสารมลพิษเพียงไม่กี่ชนิดเท่าที่ตรวจวัดได้ง่าย สารมลพิษอีกมากมายไม่มีการตรวจวัด ไม่มีการเฝ้าระวังแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เมื่อได้รับสารมลพิษในระดับต่ำกว่ามาตรฐานเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเข้าได้กับทฤษฎี chronic low dose exposure ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกันอย่างน้อยในระดับอาการ กล่าวคือ เนื่องจากระดับมลพิษมีความเข้มข้นต่ำ ไม่ทำให้เกิดโรคแต่ก็สามารถส่งผลกระทบในระดับอาการ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่สบายหรือไม่สุขสบายได้ และในระยะยาวจะส่งผลให้เป็นโรคตามมา และแม้ตรวจพบระดับสารมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็อาจทำให้เกิดโรคได้โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่อ่อนแอ หรือแม้ไม่เกิดโรคในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจสะสมและเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา เชื่อว่าที่ปัจจุบันที่ผู้คนป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้นอย่างมากมายนั้นสาเหตุสำคัญก็มาจากการรับสารพิษและมลพิษที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน รับจำนวนน้อยๆ แต่ต่อเนื่องยาวนานนั่นเอง
โต๊ะอิหม่ามรอหีม สะอุ ผู้นำคนสำคัญในตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้เคยพูดไว้อย่างน่าฟังว่า “ปล่องควันที่มีมากมายทุกปล่องของทุกโรงงานล้วนปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่จมูกของชาวบ้านมีแค่สองรู มลพิษจากทุกปล่องควันก็มารวมกันในรูจมูกและปอดของชาวบ้าน แล้วสุขภาพจะดีได้อย่างไร จากชุมชนเกษตรที่เคยสุขสงบ อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี พอการพัฒนาเข้ามา โรงงานเข้ามา คนที่รับกรรมคือชาวบ้าน แต่ผลกำไรอยู่กับนายทุนและคนถือหุ้นที่อยู่ไกลออกไปนอกชุมชน” นับเป็นทัศนะที่เจ็บปวดที่สุดของชาวบ้านในชุมชนรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
“ไม่เกินค่ามาตรฐาน” จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชุมชน การใส่ใจในทุกมิติของภาคอุตสาหกรรมที่จะลดมลพิษให้มากที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือสิ่งที่ควรจะเป็น แต่หากชุมชนไม่มีส่วนร่วม องค์กรท้องถิ่นยังอ่อนแอ และภาครัฐยังไม่ทำหน้าที่ตามกฏหมายอย่างเข้มแข็ง ก็ยากที่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยจะดีขึ้น