อึ้ง! ควันบุหรี่อยู่ในอากาศได้นาน 48 ชั่วโมง นักวิชาการเผยสุวรรณภูมิจัดสถานที่สูบบุหรี่ทำให้เกิดควันพิษเกลื่อนสนามบิน โดยเฉพาะบริเวณหน้าห้องสูบ เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย ห่วงนักเดินทางสูดขณะเดินผ่าน แนะ สธ.ออกประกาศบังคับยุบห้องสูบบุหรี่ อ้างปักกิ่งทำได้แล้ว
วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก 2550-2551 กล่าวระหว่างแถลงข่าวเรื่อง “ควันบุหรี่มรณะเต็มสุวรรณภูมิ เร่งรัฐประกาศกระทรวงด่วน” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สสท. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ว่า จากการวิจัยควันบุหรี่มือสองโดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ เมื่อปลายปี 2555 พบท่าอากาศยานนานาชาติ 5 แห่ง จาก 29 แห่งของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Denver International , Hartsfield - Jackson Atlanta International , Mc Carran International in Las Vegas , Salt Lake City International และ Washington Dulles International มีคุณภาพอากาศที่เลวร้ายและมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้โดยสารซึ่งมีผู้ใช้บริการกว่า 110 ล้านคนต่อปี หลังจากงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก คาดว่ามลรัฐต่างๆ ที่มีท่าอากาศยานทั้ง 5 ตั้งอยู่ คงจะออกกฎห้ามมีห้องสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงในท่าอากาศยานเหล่านี้
"ควันบุหรี่สามารถคงอยู่ในสถานที่ที่มีการสูบนานถึง 48 ชั่วโมงและการที่จะกำจัดควันบุหรี่ออกไปได้นั้นต้องใช้ความแรงของลมเท่ากับพายุเฮอริเคนถึงจะกำจัดได้หมด อย่างประเทศไทยก็มีท่าอากาศยานหลายแห่งที่มีการจัดพื้นที่ให้สูบบุหรี่ได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องสุขภาพของผู้มาใช้บริการ โดยเฉพาะรมว.สาธารณสุข ที่สามารถออกกฎกระทรวงได้เลยโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้าที่คณะรัฐมนตรี" นพ.หทัย กล่าว
รศ.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจควันบุหรี่มือสองในท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศไทยในปี 2556 จำนวน 4 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยทำการเก็บตัวอย่างในห้องพักสูบบุหรี่ บริเวณใกล้ประตูห้องสูบบุหรี่ และบริเวณที่ปลอดบุหรี่ ด้วยการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พบว่า ในห้องพักสูบบุหรี่มีระดับเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ถึง 773.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า ขณะที่ใกล้ประตูห้องพักสูบบุหรี่พบ 54.6 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. และบริเวณปลอดบุหรี่พบ 14.3 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. โดยมีเพียงบริเวณปลอดบุหรี่เท่านั้นที่ระดับค่าเฉลี่ยไม่เกินมาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.
ผศ.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อนโยบายปลอดบุหรี่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 200 คน ในปี 2555 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูบบุหรี่ครึ่งหนึ่ง โดยนักท่องเที่ยวที่สูบบุหรี่ร้อยละ 58 สนับสนุนให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเขตปลอดบุหรี่ และนักท่องเที่ยวร้อยละ 65.8 จะมาเที่ยวที่ไทยถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายปลอดบุหรี่ที่ท่าอากาศยานก็ตาม
รศ.เนาวรัตน์ เจริญค้า อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ.2553 ได้กำหนดให้ท่าอากาศยานภายในประเทศ เฉพาะบริเวณอาหาร และพื้นที่ใต้หลังคาเป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่ท่าอากาศยานนานาชาติสามารถจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกห้องพักสูบบุหรี่ภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เพราะนอกจากจะปกป้องสุขภาพผู้ใช้บริการและผู้ปฏิบัติงานประจำที่ท่าอากาศยานแล้ว ยังลดความเสี่ยงการรับพิษควันบุหรี่มือสองหรือมือสามด้วย เช่น การเปิดประตูห้องสูบบุหรี่ทิ้งไว้ ทำให้ควันกระจายไปทั่วบริเวณหน้าห้อง หรือการได้รับควันบุหรี่ที่ติดตัว เสื้อผ้า หรือเส้นผมของผู้สูบบุหรี่ไปจนถึงบริเวณเครื่องบิน เป็นต้น เท่าที่ทราบขณะนี้ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่งก็มีการสั่งปิดห้องสูบบุหรี่ทั้งหมด 36 ห้องแล้ว จึงคิดว่าประเทศไทยก็น่าจะสามารถทำได้เช่นกัน