xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จับมือ รพ.วัฒโนสถ ส่งต่อผู้ป่วยมะเร็ง ลดรอคิวรักษานาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปสช.ลงนาม รพ.วัฒโนสถ ส่งต่อผู้ป่วยนอกรับรังสีรักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดรอคิว ผู้ป่วยเข้าถึงรักษาเร็วขึ้น “หมอวินัย” ระบุปี 2573 จะมีผู้ป่วยใหม่ 21 ล้านคน แนวโน้มยา เวชภัณฑ์ราคาพุ่ง

วันนี้ (3 พ.ค.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งต่อผู้ป่วยนอกเพื่อรับบริการรังสีรักษา” ระหว่าง รพ.วัฒโนสถ และ สปสช.เพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยมะเร็งสำหรับผู้ป่วยนอกที่ไม่ต้องนอนรักษาใน รพ.แต่ต้องเข้ารับรังสีรักษา โดยส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลวัฒโนสถ ไม่ต้องรอคิวนาน และได้รับการรักษาที่รวดเร็วกับ รพ.ภาคเอกชนด้วยเทคโนโลยีรังสีรักษาที่ทันสมัย โดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น จากสถิติของ สธ.ปี 2552 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 23% และพบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป็นปัญหาที่สำคัญต่อระบบสุขภาพในประเทศไทย ล่าสุดในปี พ.ศ.2554 มีผู้เสียชีวิต 61,082 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกคาดมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ 21.3 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านคน โดยมะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมากและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาก็มีราคาสูงมาก

นพ.วินัย กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยความมั่นใจ ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีพันธกิจที่จะต้องส่งเสริมหรือสนับสนุนการสร้างหลักประกันด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุขและการเข้าถึงบริการ และช่วยไม่ให้คนล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการรักษาโรคมะเร็งยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะใน รพ.รัฐที่มีความแออัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรับรังสีรักษาต้องรอคิวนาน ขณะที่ รพ.ภาคเอกชนซึ่งมีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ไม่มีคิวรอรักษานาน ทรัพยากรการรักษามีเพียงพอ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการคุณภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ระหว่างภาครัฐและเอกชน สปสช.จึงได้ร่วมมือกับ รพ.วัฒโนสถ ซึ่งเป็น รพ.ภาคเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งที่มีศักยภาพสูง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวใน รพ.มารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยลดการรอคิว เพิ่มโอกาสการรักษาได้รวดเร็วและทันต่อโรค ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ รพ.ได้รับการชดเชยตามอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ทาง สปสช.ยังขยายโอกาสในการใช้สิทธิ์แก่ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งแต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา อาทิ โรคเนื้องอกในสมองบางชนิด โรคเนื้องอกของเส้นประสาทการได้ยินและโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองผิดปกติ ได้เข้าถึงการรักษาโดยเท่าเทียมกัน

“การลงนามครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการให้บริการด้านสุขภาพ โดยอาศัยทรัพยากรภาคเอกชนที่มีเพียงพอมาให้บริการผู้ป่วยภาครัฐ ที่ผ่านมามีผลงานในลักษณะรัฐร่วมเอกชนหลายลักษณะ เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น รพ.เทศบาล และระบบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัดที่เป็นความร่วมมือระหว่าง อปท.ร่วมกับ รพ.หรือสถานีอนามัย โดยหาแนวร่วมมาช่วยกันทำงานที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ในลักษณะของหุ้นส่วนรัฐร่วมเอกชนซึ่งจะเป็นทางเลือกในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ความยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

ด้าน นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล รองประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลวัฒโนสถ เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ซึ่งอยู่ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เรามีความพร้อมและความชำนาญในการให้บริการทางการแพทย์อย่างครบครันเฉพาะทางด้านรังสีรักษา และเพื่อเป็นการร่วมมือกันพัฒนาประสิทธิภาพของการรักษาในประเทศไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการของคนไทย จึงได้จับมือร่วมกับ สปสช.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อทำบันทึกข้อตกลงในการบริการส่งต่อผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกของ สปสช.ที่เป็นโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆ ที่ต้องเข้ารับบริการรังสีรักษา ตามที่แพทย์รังสีรักษาของโรงพยาบาลดังกล่าวระบุในหนังสือส่งตัว โดยค่าใช้จ่ายในการรักษายังคงเป็นไปตามเงื่อนไขของ สปสช.สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลางที่คนไข้ถือสิทธิ

“รพ.วัฒโนสถให้ความสำคัญกับทุกการรักษาที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดจากโรคร้าย ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพยืนยาวขึ้น” นพ.ชาตรี กล่าวและบอกว่า จากความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงนี้แพทย์รังสีรักษาของโรงพยาบาลต้นสังกัด จะทำหนังสือส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยระบุไว้กับ สปสช.เพื่อมารักษาด้วยรังสีรักษาที่โรงพยาบาลวัฒโนสถ รวมถึงในกรณีที่การรักษานั้นต้องใช้เทคนิคที่สูงขึ้น เช่น ระบบ IGRT(ภาพรังสีนำวิถี), 3D (ระบบประมวลภาพเป้าหมายแบบ 3 มิติ) และ SRS (รังสีศัลยกรรมด้วยเครื่อง Gamma knife และเครื่องฉายแสง 3 มิติ Novalis) และอื่นๆ ตามเงื่อนไขของ สปสช.หรือสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยรังสีรักษาที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีราคาได้อย่างเท่าเทียมกัน

พลตรีนายแพทย์นิวัฒน์ บุญยืน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลวัฒโนสถเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ที่พร้อมให้บริการผู้ป่วยด้วยการใช้เครื่องมือทางรังสีรักษาที่ทันสมัย อาทิ การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ (ฝังแร่) Brachytherapy เป็นวิธีการรักษาโดยให้ต้นกำเนิดรังสีอยู่ใกล้กับบริเวณที่จะทำการรักษาก้อนมะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งที่อยู่ใกล้ต้นกำเนิดรังสีได้รับปริมาณรังสีได้สูงตามเป้าหมาย ในขณะที่เนื้อเยื่อปกติได้รับปริมาณรังสีในระดับน้อย ตลอดจนเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค Linear Accelerator (LINAC) เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการผลิตรังสีเอกซเรย์พลังงานสูง โดยสามารถแบ่งระดับพลังงานของรังสีเอ็กซ์ และ การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสีระบบ 3 มิติและบีบจัดแต่งรูปลำรังสีให้เล็กตามกำหนด (Novalis) และเครื่องฉายรังสี Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT) ซึ่งควบคุมรูปลำรังสีและความเข้มของรังสีได้ตามรูปร่างและตำแหน่งของก้อนมะเร็งให้ความถูกต้องและแม่นยำในการรักษาสูง เหมาะสำหรับรอยโรคขนาดเล็กและอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญที่มีความไวต่อรังสีมาก กล่าวได้ว่า การวางแผนการรักษาด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แพทย์สามารถกำหนดการกระจายของรังสีในเป้าหมายให้พอดีกับขนาดของก้อนมะเร็งมากที่สุด ช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะปกติที่อยู่รอบๆ ได้ ทั้งนี้นอกจากความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ด้วยคณะแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ นอกจากนี้เรายังได้ถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างความชำนาญในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะให้การดูแลสุขภาพของคนไทยให้มีความเท่าเทียมและได้มาตรฐานระดับสากล
กำลังโหลดความคิดเห็น